ปัจจุบัน การเรียนพิเศษ ดูเหมือนจะดำเนินควบคู่ไปกับการเรียนตามหลักสูตร ในโรงเรียนปกติของเด็กๆ ไปเสียแล้ว ทั้งนี้เพราะค่านิยมทางสังคมหลายประการ ที่ทำให้ผู้ปกครองจำนวนม่น้อยที่นิยมส่งเสริมให้ลูกๆ เรียนพิเศษตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อปูพื้นฐานทางด้านวิชาการ หรือส่งเสริมสนับสนุนความสามารถพิเศษในด้านอื่นๆ ของลูกๆ อาทิ การเรียนพิเศษด้านศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ เป็นต้น
ทว่า การเรียนพิเศษดีจริงๆ หรือ? หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงค่านิยมของสังคม แล้วการเรียนพิเศษมีความจำเป็นแค่ไหน? เด็กๆ ควรเรียนพิเศษหรือไม่? เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันค่ะ…
สถาบันสอนพิเศษ VS โรงเรียนระบบปกติ ต่างกันอย่างไร
ก่อนที่จะไปดูเรื่องการเรียนพิเศษ อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสอนจากสถาบันสอนพิเศษและโรงเรียนในระบบปกติกันก่อนสักหน่อย ว่าทั้ง 2 อย่างนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
สถาบันสอนพิเศษ
สถาบันสอนพิเศษ หมายถึง สถาบัน สถานศึกษา หรือสถานที่ ที่ถูกจัดทำไว้เพื่อการเรียนการสอนนอกระบบ หรือที่เรียกกันว่า “การเรียนพิเศษ” ซึ่งแตกต่างไปจากการเรียนการสอนในโรงเรียนตามปกติ หรือหลักสูตรสามัญ ที่กระทรวง ศึกษาธิการกำหนด อาทิ สถาบันสอนพิเศษ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนดนตรี โรงเรียนสอนศิลปะ ฯลฯ เป็นต้น
โรงเรียนในระบบปกติ
โรงเรียนในระบบปกติ คือ โรงเรียนในสายสามัญทั่วไป ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนในชั้นเรียน หรือห้องเรียน ในแต่ละระดับการศึกษา เช่น โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม เป็นต้น ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับชั้น นักเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรเป็นเครื่องหมายรับรองวุฒิการศึกษา เพื่อนำไปใช้ศึกษาต่อ หรือทำงาน นั่นเอง
นอกจากนี้ในปัจจุบัน เรายังมีโรงเรียนทางเลือกที่เน้นในเรื่องให้ลูกได้ช่วยเหลือตนเองได้อีกด้วย เรียนรู้จากธรรมชาติ รวมถึงเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งถ้ามองว่าแลกกับการที่ลูกเติบโตและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองก็นับว่าคุ้มค่าทีเดียว ทั้งนี้ เรื่องนี้คงต้องเป็นอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาตามความสะดวกแล้วล่ะค่ะ
ข้อดีของการเรียนพิเศษ
ทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ ซึ่งในส่วนนี้เราจะมาดูข้อดีของการเรียนพิเศษกันก่อน ดังนี้
มุ่งเจาะประเด็นหลัก
การเรียนพิเศษมักมุ่งเน้นเจาะประเด็นหลัก ใจความสำคัญ ทำให้เด็กๆ เข้าใจง่าย และจำได้แม่นยำ โดยเฉพาะหลักสูตรติวเข้ม เข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบเข้าสถาบัยต่างๆ ที่มีการแข่งขันสูง เป็นต้น
สอนเทคนิคในการช่วยจำ
ในการเรียนพิเศษ ติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษมักมีเทคนิคช่วยจำที่น่าสนใจ และมักช่วยในการจดจำเนื้อหาได้ง่าย เช่น การร้องเป็นเพลง การท่องเป็นกลอน หรือคำคล้องจอง เป็นต้น
ความมั่นใจในการสอบ
และยังเพิ่มความพร้อมในการสอบ หรือการเรียนในห้องตามปกติ สำหรับน้องๆ ที่มักมีปัญหาตามเพื่อนไม่ทัน จำเนื้อหาที่ครูสอนไม่ค่อยได้ เป็นต้น
มีสังคมที่กว้างขึ้น
ได้เพื่อนใหม่ต่างโรงเรียน ต่างสถาบัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำให้การเรียนไม่เคร่งเครียดมากจนเกินไป
ข้อเสียของการเรียนพิเศษ
คราวนี้เรามาดูในส่วนของข้อเสียของการเรียนพิเศษกันบ้าง
เกิดภาวะความเครียดจากการถูกเร่งรัด
ถ้าเด็กๆ เรียนพิเศษตั้งแต่วัยอนุบาล (อายุประมาณ 3-6 ปี) ซึ่งเป็นวัยที่การเล่นคือการเรียนรู้ แต่หากได้รับการเร่งรัดทางด้านวิชาการมากเกินไป โดยการให้เรียนพิเศษ จะทำให้เด็กๆ รู้สึกเครียด และเบื่อการเรียนได้ โดยเฉพาะถ้าการเรียนพิเศษ เป็นการเรียนทางวิชาการ ด้วยเนื้อหา “นำหน้า” บทเรียนในระบบปกติ เด็กๆ อาจจะเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าชั้นเรียนปกติเลยก็เป็นได้
ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
เด็กๆ อาจสูญเสียช่วงเวลาที่จะได้ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ พี่น้อง และเครือญาติ เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเรียนพิเศษนอกโรงเรียน
ขาดการพัฒนาทางด้านจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์
ผลจากการวิจัยระบุว่า หากเด็กๆ เรียนพิเศษทางด้านวิชาการอย่างเข้มข้น อาจส่งให้เด็ก ๆ เกิดความเครียด ตั้งแต่วัยอนุบาล อาจจะส่งผลต่อศักยภาพทางความคิด และจินตนาการของเด็กๆ ทำให้เขามีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ลดน้อยลง เพราะถูกปิดกั้นและตีกรอบทางด้านวิชาการมากเกินไป ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ (CQ – Creativity Quotient) และพัฒนาการของสมองตามช่วงวัยที่เหมาะสม
ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องชะงักและคิดนานสักหน่อย เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ค่อยคล่องตัวเท่าที่ควรหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มา ครั้นจะต้องมีรายจ่ายเพิ่มในส่วนนี้ก็อาจจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นกว่าในส่วนอื่น ๆ
ควรเรียนพิเศษหรือไม่
การเรียนพิเศษไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หรือเสียหาย แต่ควรเป็นไปตามวัยที่เหมาะสม หรือเป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้เหมาะสมกับวัยของพวกเขา นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ในวัยเด็กเล็ก หรืออนุบาล (3-6 ขวบ) เด็กๆ ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางความคิด จินตนาการ อารมณ์ และการเข้าสังคม จากกิจกรรมการเรียนพิเศษ ที่จะช่วยกระตุ้นทักษะเหล่านี้ อาทิ การเรียนศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ การเรียนเต้นรำ ร้องเพลง และกีฬาต่างๆ เป็นต้น
สรุป
ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องการสนับสนุนส่งเสริมทางด้านวิชาการแก่ลูกๆ ก็สามารถที่จะให้ลูกเริ่มต้นเรียนพิเศษได้ตั้งแต่วัย 6 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเด็กๆ ควรได้มีโอกาสทดลองเรียน (ปัจจุบันมีสถาบันสอนพิเศษหลายแห่งเปิดให้ทดลองเรียนได้ฟรี) และร่วมตัดสินใจไปพร้อมๆ กับคุณพ่อคุณแม่ในการเลือกสถาบันสอนพิเศษ เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว อย่างไรเสีย การเรียนพิเศษนอกจากความรู้ที่ต้องการจากครูสอนพิเศษ หรือติวเตอร์แล้ว พวกเขายังต้องการบรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลาย ชั้นเชิงการสอนที่สนุกสนาน และมิตรภาพจากเพื่อนร่วมห้องอีกด้วย ที่สำคัญ ไม่ควรส่งให้ลูกเรียนพิเศษเพียงเพราะเห็นเพื่อน ๆ ของลูกเรียน หรือเพียงเพราะค่านิยมนะคะ