Site icon simplymommynote

น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา ต่างกันอย่างไร เด็กทานได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา ต่างกันอย่างไร เด็กทานได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

น้ำมันปลา (Fish oil) และน้ำมันตับปลา (Cod liver oil) ถึงแม้จะมีชื่อคล้ายกันจนหลายคนสับสนว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว น้ำมันปลา และน้ำมันตับปลา เป็นคนละชนิดกัน แต่ทั้งสองชนิดต่างก็มีทั้งส่วนที่เหมือน และแตกต่างกัน โดยเฉพาะในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการ และแหล่งที่มาของสารอาหารที่สกัดได้จากปลาทะเล…

น้ำมันปลา (Fish oil) คืออะไร?

น้ำมันปลา (Fish oil) คือ น้ำมันที่สกัดได้จากส่วนต่างๆ ของปลาทะเลน้ำลึก ที่มีแหล่งกำเนิดในเขตภูมิอากาศหนาวเย็น เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแองโชวี่ ปลาแฮริ่ง ปลาเทราต์ ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน เป็นต้น โดยส่วนที่นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันปลา ได้แก่ หัวปลา หางปลา เนื้อปลา หนังปลา เป็นต้น

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

น้ำมันปลา มีประโยชน์มากมาย ดังนี้

  • อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันสำคัญ 2 ชนิด คือ EPA และ DHA ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • มีส่วนช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์
  • มีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง และหัวใจ
  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยในการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ
  • ช่วยลดไขมันในเลือด ลดการเกิดภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือด
  • ลดโอกาสการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคภูมิแพ้ต่างๆ
  • เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคซึมเศร้า โรคภูมิแพ้ต่างๆ เป็นต้น

ข้อควรระวังในการกินน้ำมันปลา

แม้ว่าน้ำมันจะมีส่วนดี แต่การบริโภคก็ควรมีข้อควรระวัง ดังนี้

เสี่ยงเลือดหยุดช้า

มีความเสี่ยงทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้า เมื่อเกิดบาดแผล เนื่องจากโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงควรระมัดระวังการใช้ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่แผลในกระเพาะอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด หรือผู้ที่เพิ่งจะผ่านการผ่าตัดมาหมาดๆ เป็นต้น

ใช้อย่างระวังในผู้ป่วยบางกลุ่ม

ระมัดระวังในการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาแอสไพริน ยาวอฟาร์ริน (warfarin) ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด ยาออลิสแตท (orlistat) หรือยาที่ช่วยลดการดูดซึมไขมัน เป็นต้น

หยุดบริโภคก่อนการผ่าตัด

หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานน้ำมันปลา ก่อนเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน และควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดว่า โดยปกติแล้วรับประทานน้ำมันปลาอยู่เป็นประจำ

เริ่มปริมาณน้อย

ผู้ที่ไม่เคยรับประทานน้ำมันปลามาก่อน ควรเริ่มต้นรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณที่น้อย และควรรับประทานหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันการแพ้ หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ท้องเสีย เป็นต้น

ใช้อย่างระวังในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต ควรรับประทานน้ำมันปลาด้วยความระมัดระวัง เพราะจะทำให้ความดันโลหิตยิ่งลดต่ำลงไปอีก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้

ระวังการใช้ในผู้ที่ทายากดภูมิ

ควรระมัดระวังในกลุ่มผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาทาโรลิมัส (Tarolimus) ยาไซโรลิมัส (Sirolimus) เพราะตัวยาอาจไปทำหน้าที่กดภูมิคุ้มกันให้ต่ำลงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้

น้ำมันตับปลา (Fish oil) คืออะไร

น้ำมันตับปลา (Cod liver oil) คือ น้ำมันที่สกัดได้จากตับของปลาทะเล โดยเฉพาะปลาค็อด

ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา

  • มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 ซึ่งถึงแม้จะมีประมาณกรดไขมัน EPA และ DHA ในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำมันปลา แต่จะมีวิตามิน A และ วิตามิน D ในปริมาณที่สูง
  • มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง
  • บำรุงสายตา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ป้องกันโรคตาบอดกลางคืน หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา
  • ลดอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ กระดูกเสื่อม

ข้อควรระวังในการกินน้ำมันตับปลา

การทานน้ำมันตับปลาควรทานด้วยความระมัดระวัง ดังนี้

ไม่ควรทานมากไป

น้ำมันตับปลา มีวิตามิน A และ วิตามิน D ในปริมาณที่สูง ซึ่งวิตามินทั้งสองชนิดนี้ละลายได้ดีในไขมัน ดังนั้นหากใช้น้ำมันตับปลาในปริมาณที่เกินความพอดีขะเกิดการละสมในร่างกาย และก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น อาจมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ผิวหนังเป็นผื่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย รวมถึงอาจทำให้นอนไม่หลับได้ด้วยเช่นกัน

แม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการใช้น้ำมันตับปลาเป็นพิเศษ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้จึงจะเป็นการดีที่สุด ทั้งนี้เพราะในน้ำมันตับปลามีวิตามิน A ค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้

เสี่ยงเลือดหยุดไหลช้า

มีความเสี่ยงทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้า เมื่อเกิดบาดแผล เนื่องจากโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงควรระมัดระวังการใช้ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่แผลในกระเพาะอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือผู้ที่เพิ่งจะผ่านการผ่าตัดมาหมาดๆ เป็นต้น

ระวังการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม

ระมัดระวังในการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาแอสไพริน ยาวอฟาร์ริน (warfarin) เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการมีเลือดออกมากยิ่งขี้น

แจ้งแพทย์ก่อนวางแผนการผ่าตัด

หากจะเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดให้ทราบว่า ปกติตนเองรับประทานน้ำมันตับปลาอยู่เป็นประจำ และควรหยุดรับประทานน้ำมันตับปลา ก่อนหน้าที่จะเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 14 วันอีกด้วย

น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ในน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลามีอะไรที่เหมือนกันและมีอะไรที่ต่างกันบ้าง ไปติดตามกัน

คุณประโยชน์ที่เหมือนกัน

  • มีกรดไขมันโอเมก้า 3 (PEA และ DHA) มีส่วนช่วยในการลดระดับโคเลสเตอรอล
  • ลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด
  • ลดความดันโลหิต
  • ช่วยในการทำงานของระบบประสาท และสมอง เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้

คุณประโยชน์ที่ต่างกัน

ในน้ำมันตับปลาจะมีวิตามิน A และวิตามิน D แต่ในน้ำมันปลาไม่มี

น้ำมันปลา เด็กทานได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

ประโยชน์สำคัญของน้ำมันปลาคือ มีโอเมก้า 3 ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวทั้งสองชนิดคือ DHA และ EPA ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง เสริมสร้างพัฒนาการทั้งสติปัญญา และความคิด เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ ได้

ซึ่งมีผลการวิจัยพบว่าการให้เด็กได้รับกรดไขมัน DHA เสริมวันละ 100 มิลลิกรัมใน 1 ภาคเรียน จะช่วยลดการเจ็บป่วยในเด็กลงได้ถึง 10% เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม องค์การโภชนาการระดับโลกอย่าง FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ได้แนะนำปริมาณ DHA ที่เด็กๆ ควรจะได้รับต่อวันไว้ดังนี้ คือ

  • เด็กอายุ 6 – 24 เดือน: ควรได้รับปริมาณ DHA ประมาณ 10 – 22 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุ 2 – 4 ขวบ: ควรได้รับปริมาณ DHA ประมาณ 100 – 150 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4 – 6 ขวบ: ควรได้รับปริมาณ DHA ประมาณ 15o – 200 มิลลิดรัม/วัน
  • เด็กอายุ 6 – 10 ขวบ: ควรได้รับปริมาณ DHA ประมาณ 200 – 250 มิลลิกรัม/วัน

สรุป

แม้ว่า DHA และ EPA จะเป็นสารอาหารสำคัญในกรดไขมันโอเมกา 3 ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จึงต้องรับประทานเข้าไปในรูปของอาหาร หรืออาหารเสริม ทว่า อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหาร หรืออาหารเสริมที่มีปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัว ก็มีข้อควรระมัดระวังเช่นกัน ดังนั้นก่อนรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ หรือศึกษาข้อมูลให้เกิดความมั่นใจเสียก่อน จึงค่อยรับประทาน โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น

Exit mobile version