ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้มีหลายครอบครัวที่ต้องทำงานกันทั้งคุณพ่อคุณแม่ และไม่มีใครจะช่วยเลี้ยงลูก การฝากที่เนอสเซอรี่จึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่แทบจะทุกครอบครัวจะนึกถึง แล้วจะเลือกเนอสเซอรี่อย่างไรที่ปลอดภัยที่สุดกับลูกเรา วันนี้แม่โน้ตจะมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังค่ะ
เนอสเซอรี่กับข้อที่ควรนำไปพิจารณา
งบประมาณ
สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นลำดับต้น ๆ คุณพ่อคุณแม่คำนึงถึง แม่โน้ตเชื่อว่าก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะไปดูสถานที่จริงนั้น คุณพ่อคุณแม่จะพอมีข้อมูลของโรงเรียนนั้น ๆ อยู่ในหัวบ้างแล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการเลือกหรือไม่เลือกโรงเรียนนั้นได้เลย (คือ ถ้าสูงมาก ส่งไม่ไหวก็ตัดทิ้งแต่เนิ่น ๆ ได้)
สถานที่ตั้ง
ควรเลือกโรงเรียนที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อสะดวกในการเดินทางและการไปรับ-ส่งลูกค่ะ
สถานที่ต้องโปร่งโล่ง ปลอดภัย
จากประสบการณ์แม่โน้ต ก้าวแรกที่เราได้ไปดูสถานที่จริงเราจะรู้ได้เลยว่า โรงเรียนนี้โอเคหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถเดินสำรวจโรงเรียนก่อนได้ค่ะ โดยที่ดูว่าประตูโรงเรียนเด็กจะต้องไม่สามารถเปิดออกเองได้ มีทางหนีไฟ มีระบบตรวจสอบควันไฟ สนามเด็กเล่นที่ติดตั้งของเล่นขนาดใหญ่ต้องมั่นคงและไม่มีเสื่อมสภาพ หากเป็นห้องแอร์ก็ควรมีเครื่องฟอกอากาศ แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ ประตูหน้าต่างก็ควรใหญ่พอที่จะสามารถระบายอากาศได้ดี ไม่อับทึบ ถ้าจะให้ดีกว่านั้นควรมีห้องที่แยกเด็กที่ป่วยออกมา มีของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัย มีกล้องวงจนปิดที่สามารถตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ย้อนหลังได้
นโยบายในการดูแลเด็ก
ข้อนี้ควรเลือกโรงเรียนที่มีนโยบายการดูแลเด็กที่ตรงกับแนวความคิดของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการอาหารกลางวันที่เด็กควรต้องบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีผลไม้ หรือนม เพื่อให้ร่างกายเด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
บุคลากร
ควรมีบุคลากรที่เหมาะสมกับจำนวนของเด็กนักเรียน เพราะจะมีผลต่อการดูแลเด็ก ทั่วไปก็จะมีพี่เลี้ยงเด็กประมาณ 2 – 3 คน และครูอีก 1 คน สะระตะห้องหนึ่งรวมแล้วก็ประมาณ 2 – 3 คนกำลังดี บุคลากรไม่ควรมีประวัติอาชญากร เป็นคนใจเย็น รักเด็ก มีความรู้และทักษะในการดูแลเด็ก จะให้ดีควรผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การดูแลเรื่องสุขอนามัยของเด็ก
เน้นเรื่องการรักษาความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของห้องน้ำ หรือเน้นเรื่องการล้างมือบ่อย รวมถึงควรมีแนวทางปฏิบัติเพื่อความสะอาดที่ดีของบุคลากรก่อนจะจัดเตรียมอาหารให้เด็ก ๆ มีมาตรการในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีห้องแยกเด็กที่ป่วย หรือมีนโยบายห้ามเด็กที่ป่วยมาโรงเรียนเด็ดขาด รอจนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือให้บุคลากรรีบแจ้งผู้ปกครองหากพบว่าเด็กมีอาการป่วยหนักหรือเฉียบพลัน
อาหารที่ถูกสุขลักษณะ
ห้องเตรียมอาหารของเด็กควรถูกสุขลักษณะ มีการจัดอาหารและของว่างที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และสะอาด ซึ่งโรงเรียนที่น้องมินเรียนอยู่นั้นสถานที่ที่เตรียมอาหารดูสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี และอาหารเมื่อปรุงสุกใหม่ ๆ ทางโรงเรียนจะมีฝาปิดเรียบร้อย
สิ่งที่ควรถามเพิ่มเติมจากเนอสเซอรี่
80% หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่เกือบจะตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกแล้ว ที่เหลือสัก 10% ให้คุณพ่อคุณแม่ไปดูสถานที่จริง และอีก 10% ให้คุณพ่อคุณแม่ถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเนอสเซอรี่ ดังนี้
หลักสูตรและกิจกรรม
ในแต่ละวันทางโรงเรียนมีหลักสูตรอะไรให้เด็กได้เรียนรู้บ้าง สอนเรื่องอะไรบ้าง อาทิ เรื่องของการอยู่ร่วมกับผู้อื่น สอนให้ช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ
เป้ากำหนดให้เด็กเรียนรู้
สิ่งที่แม่โน้ตแนะนำหลีกเลี่ยงโรงเรียนที่เน้นวิชาการมากไป เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วค่ะกับเนอสเซอรี่ก่อนหน้านี้ เน้นให้เด็กนับเลขได้ มีการบ้านให้ สุดท้ายเด็กไม่ได้ทำค่ะ เพราะวัยเขาควรเน้นในเรื่องการอยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่น หรือเน้นเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง อย่างเรื่องการแปรงฟัน การกินข้าว หรือแม่แต่เรื่องการเข้าห้องน้ำมากกว่า
กิจกรรมประจำวัน
เพราะความที่เด็กยังเล็กมาก เขาไม่ควรได้รับการยัดเยียดความรู้อะไรมากเกินไป การเรียนรู้สำหรับเด็กวัยนี้สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การปล่อยให้เขาได้เล่นอยู่กับเพื่อน หรือแม้ว่าเขาจะเล่นคนเดียวก็ตาม แต่ก็จะมีของเล่นให้เด็กเล่นเพื่อเป็นการเสริมจินตนาการ เท่านี้ก็พอแล้วค่ะ
การเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูกอยู่ที่การหาข้อมูล การได้ไปดูสถานที่จริง และการได้คุยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทางโรงเรียนเพื่อประกอบการตัดสินใจ ตอนนี้น้องมินอยากไปโรงเรียนทุกวันเลยค่ะ ลูกมีความสุขคนเป็นแม่อย่างก็มีความสุขไปด้วย