โรงเรียนทางเลือก คืออะไร? มีกี่แบบ? เหมาะสมกับลูกไหม?
เมื่อลูกเริ่มที่จะเข้าวัย 3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านก็คงกำลังคิดและตัดสินใจเรื่องการเข้าโรงเรียนของลูก ว่าจะเลือกโรงเรียนไหน ให้ลูกเรียนแนวไหน และแบบไหนที่เหมาะกับลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำการบ้านและหาข้อมูลกันอย่างหนักทีเดียว และในปัจจุบัน จึงเกิดโรงเรียนทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอรูปแบบการสอนอื่น ๆ ให้ได้เลือกเรียนกัน วันนี้กิฟท์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือกมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้พิจารณากันค่ะ ว่าลูกจะเหมาะกับการเรียนการสอนแบบไหน
โรงเรียนทางเลือก คืออะไร?
โรงเรียนทางเลือก คือ สถานศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งของโรงเรียนในระบบที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย มีแนวคิด แนวทาง ปรัชญาการศึกษา ที่แตกต่างจากการศึกษาตามค่านิยมกระแสหลัก และเป็นโรงเรียนที่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงมีจัดการศึกษาที่อิงกับระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นโรงเรียนในสังกัดหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
โรงเรียนทางเลือก vs โรงเรียนทั่วไป ต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างหลักคือ โรงเรียนทางเลือก เป็นการจัดการศึกษาแบบก้าวหน้า (Progressive education) เป็นนวัตกรรมการศึกษาเพื่อข้ามพ้นข้อจำกัดของค่านิยมกระแสหลัก ศึกษานวัตกรรมที่หลากหลายในสากล เพื่อมาปรับใช้ผสมผสานให้เหมาะกับนักเรียนภายใต้บริบทหรือนิเวศการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายของสังคมต่าง ๆ ในประเทศไทย
9 แนวทางการสอนของโรงเรียนทางเลือก
แนวทางการสอนของโรงเรียนทางเลือก สามารถแบ่งออกได้เป็น 9 แนวทาง ดังนี้
1.แนวการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori)
เป็นแนวการสอนในช่วงวัยอนุบาลที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กจะได้ฝึกทักษะที่หลากหลาย อย่างอิสระผ่านกลไกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นกับเพื่อน ทำให้เด็กเรียนรู้ความอดทนอดกลั้น มีความรับผิดชอบ รักตัวเอง เข้าสังคมได้ดี เห็นคุณค่าและเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น ตัดสินใจเองได้ เป็นเด็กที่โตตามธรรมชาติของตัวเอง และมีประสบการณ์มากพอที่จะก้าวสู่วัยประถม พร้อมที่จะรับความรู้ด้านวิชาการต่อไป
2.แนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia)
เป็นแนวการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่โตมากับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน หลักสูตรจะเน้นทักษะด้านกระบวนการทางความคิด ส่งเสริมให้รู้จักคัดกรองความรู้ มีการวางแผน การคาดคะเนคำตอบ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยหัวข้อกิจกรรมในห้องเรียนจะเกิดจากสิ่งที่เด็กต้องการเรียนรู้ ซึ่งไม่มีการกำหนดระยะเวลาแน่นอน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนเท่านั้น โดยที่ผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นด้วยได้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้จักเคารพผู้อื่น
3.แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf)
เป็นแนวการสอนที่ให้เด็กได้พัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ซึ่งแบ่งช่วงอายุของเด็กเป็น 3 ช่วงหลัก เพื่อที่จะดูแลได้อย่างเหมาะสมตามธรรมชาติของแต่ละช่วงวัย ทำให้เด็กค่อยๆพัฒนาเป็นมนุษย์ที่มีความสมดุล โดยใช้ศิลปะเป็นตัวเชื่อม ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น งานประดิษฐ์ การทำอาหาร ระบายสี ให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการที่กว่าจะมาเป็นอาหาร 1 จานต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง ทำให้รู้จักคิด เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา มีโอกาสได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นตามความสนใจของตนเองอย่างแท้จริง
4.แนวการสอนวิถีพุทธ (Buddhist School)
เป็นแนวการสอนที่เน้น “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ยึดหลักตามพระพุทธศาสนา ภายในโรงเรียนมีธรรมชาติและบรรยากาศที่สงบ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้วิถีชาวพุทธ ฝึกปฏิบัติ และมีการวัดประเมินหน่วยการเรียนรู้ โดยเฉพาะด้านคุณลักษณะนิสัย ศรัทธา ค่านิยม ที่จะส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงามตามลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ คือ
สัปปุริสสังเสวะ
หมายถึง การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้
สัทธัมมัสสวนะ
หมายถึง เอาใจใส่ศึกษา โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี
โยนิโสมนสิการ
หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ พิจารณาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
ธัมมานุธัมปฏิปัตติ
หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ถูก
จะทำให้เด็กสามารถมองเห็นและรับมือกับปัญหาได้เป็นอย่างดี และเติบโตอย่างมีอารมณ์ที่มั่นคง
5.แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-Humanist Education)
เป็นแนวการสอนที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาการสูงที่สุด มีความต้องการจากภายในที่จะพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จึงมุ่งเน้นที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพแฝงเร้นในตัวเด็กให้แสดงออกมาได้อย่างสูงสุด ด้วยการทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self -Esteem)
6.แนวการสอนแบบโครงการ (Project Approach)
เป็นแนวการสอนที่ปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้ โดยให้เด็ก ๆ ได้แลกเปลี่ยนหัวข้อที่ตัวเองสนใจศึกษาร่วมกันกับเพื่อน ๆ โดยศึกษาแบบลงลึกในรายละเอียดของเรื่องนั้นอย่างละเอียด ทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียน รู้จักการสำรวจ การนำเสนอข้อมูล สามารถนำไปบูรณาการกับวิชาการแขนงต่าง ๆ ต่อไปได้
7.แนวการสอนแบบไฮสโคป (High/Scope)
เป็นแนวการสอนที่เน้นให้เด็กมีการคิดแบบเชื่อมโยงความรู้ได้อย่างรวดเร็วและสมวัย โดยครูเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้เด็กปฏิบัติ 3 อย่างด้วยกัน คือ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) และการทบทวน (Review) เป็นการส่งเสริมพัฒนาการและสติปัญญา ทำให้เด็กมีพื้นฐานจิตใจที่มั่นคงแข็งแรงจากการที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
8.แนวการสอนแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence)
เป็นแนวการสอนที่เชื่อว่าเด็กเล็กนั้นมีความฉลาดที่แตกต่างกันออกไปอย่างเป็นปัจเจกบุคคล โดยครูเป็นผู้คอยจัดกิจกรรมเสริมปัญญาที่มีทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่
- ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์
- ความฉลาดด้านภาษา
- ความฉลาดด้านตรรกะ/คณิตศาสตร์
- ความฉลาดด้านร่างกาย/การเคลื่อนไหว
- ความฉลาดด้านดนตรี
- ความฉลาดด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ความฉลาดในการรู้จักและเข้าใจตัวเอง
- ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ
- ความฉลาดในการคิดใคร่ครวญ เพื่อทำให้เด็กรู้จักจุดเด่นและจุดอ่อนของตัวเอง รวมถึงใช้ศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตัวเอง มีความสุข และทำให้เด็กสามารถตั้งเป้าหมายในอนาคตได้ด้วยตัวเอง
9.แนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach)
เป็นแนวการสอนที่เน้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งถือเป็นการสื่อสารตามธรรมชาติ สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านภาพ เสียง การพูด และตัวอักษร ทำให้เด็กได้ใช้ทักษะทางด้านภาษาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เด็กจะมีการสื่อสารที่แข็งแรงจนสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความมั่นใจในตัวเอง และมีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นสูง
รูปแบบของโรงเรียนทางเลือก
ถึงแม้โรงเรียนทางเลือกจะมีแนวทางการสอนและจุดมุ่งหมายแบบเฉพาะตัว แต่ต้องตั้งอยู่บนหลักสูตรแกนกลางที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนด และต้องจัดตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดรูปแบบของโรงเรียนทางเลือกไว้ 5 รูปแบบ คือ
เป็นโรงเรียนในความกำกับของรัฐ
แต่เน้นความเป็นอิสระและคล่องตัว มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติเฉพาะของตัวเอง
โรงเรียนวิถีพุทธ
ที่เน้นนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียน
เป็นโรงเรียนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ
เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนได้เข้ารับการประเมินความสามารถพิเศษว่าตนเองมีในด้านใดบ้าง
โรงเรียนสองภาษา
เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน
เป็นต้นแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เป็นโรงเรียนที่ใช้สื่ออิเลคทรอนิคส์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพื่อใช้ในการสื่อสารซึ่งไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้
ครูในโรงเรียนทางเลือก
ในโรงเรียนทางเลือก ถือว่า ครูเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน จึงต้องผ่านการคัดเลือกและทดสอบเพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพมากที่สุด เพื่อนำมาซึ่งการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการสอนหรือแนวการสอนที่หลากหลาย ครูในโรงเรียนทางเลือกจะมีสัดส่วนต่อนักเรียนมากกว่าครูในโรงเรียนทั่วไป มีการศึกษาระดับสูง มีความพร้อมในการปรับตัวสูง มีจิตวิทยาสูง มีความเอาใจใส่ที่สูงกว่าโรงเรียนทั่วไป เพื่อที่ครูจะสามารถดูแล และให้คำปรึกษากับเด็กได้อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง
จะเห็นว่าแนวทางการสอนของโรงเรียนทางเลือกไม่ว่าจะแนวทางใดก็ตาม ให้ความเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เรียนพัฒนาความเป็นตัวตนได้อย่างเต็มศักยภาพ นำไปสู่จิตใจที่มั่นคง และมี Self Esteem แต่ในขณะที่ข้อจำกัดของโรงเรียนทางเลือกก็คือ ยังไม่มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ใช้หลักสูตรดังที่กล่าวนี้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณากันให้รอบด้านสักหน่อย ทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วค่อยตัดสินใจนะคะ