คนท้องกินกาแฟได้ไหม ส่งผลอะไรกับลูกในครรภ์บ้าง
มีคุณแม่ตั้งครรภ์ในจำนวนไม่น้อยที่รักการดื่มกาแฟและติดกาแฟมาก อย่างน้อยก็ต้องวันละ 1 แก้ว แต่พอตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนกังวลใจว่าจะทำอย่างไรดี “คนท้องกินกาแฟได้ไหม” คนติดกาแฟอย่างฉันจะทำอย่างไรดี คิดต่อรองกับตัวเองในใจว่าอึกนึงน่า ไม่น่าจะเป็นอะไร วันนี้เราจะมาดูเรื่องนี้กันค่ะ สรุปแล้วว่ากินกาแฟได้หรือไม่ได้
คาเฟอีนในกาแฟ
คาเฟอีนจัดอยู่ในสารประเภท Xanthines มีคุณสมบัติทำให้หลอดลมเกิดการขยายตัว กระตุ้นการทำงานของสมอง รวมถึงช่วยกระตุ้นให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมามาก
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มกาแฟเข้าไปในช่วงที่ไม่มีอาหารรองท้อง คาเฟอีนก็จะถูกดูดซึมภายในระยะเวลา 30 นาทีหลังการดื่ม แต่ถ้าดื่มหลังอาหาร คาเฟอีนก็จะถูกดูดซึมภายในเวลา 60 นาทีโดยประมาณ
ข้อมูลอ้างอิง : coffeefavour.com
คาเฟอีนส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร?
คาเฟอีนเป็นสารที่ไม่ได้พบแค่ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังมีในอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ น้ำอัดลม ชา โซดา เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต หรือแม้แต่ในยาบรรเทาปวดศีรษะบางชนิดที่มีจำหน่ายในร้านขายยา สารชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนี้
ปัสสาวะถี่ขึ้น
คาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ ยิ่งผนวกกับถ้าคุณแม่ดื่มน้ำน้อย ก็จะส่งผลให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำได้ ร่างกายอ่อนเพลียมาก
คาเฟอีนสามารถซึมผ่านรกสู่ลูกน้อยได้
เพราะร่างกายของทารกยังไม่สามารถกำจัดคาเฟอีนออกมาได้ ดังนั้น เมื่อคุณแม่รับคาเฟอีนเข้าไปก็ส่งผลต่อการนอนหลับของทารกในครรภ์ รวมถึงการเคลื่อนไหวของทารกได้
ทารกเสี่ยงพิการแต่กำเนิด
จากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ได้ทำการทดลองกับสัตว์ ระบุว่า การที่คุณแม่ได้รับคาเฟอีนขณะตั้งครรภ์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิการของทารกแรกเกิด การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ รวมไปถึงลูกน้อยจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ได้ ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันกับงานวิจัยในคน
เสี่ยงต่อภาวการณ์มีบุตรยาก
มีงานวิจัยบางชิ้นที่ได้ออกมาระบุว่าการได้รับคาเฟอีนมากเกินไปจะส่งผลให้มีลูกยาก ซึ่งก็ยังไม่มีหลักฐานที่มากพอที่จะยืนยันในเรื่องนี้
มีโอกาสแท้งลูก
ข้อนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยังขัดแย้งกันอยู่ งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณวันละ 200 มิลลิกรัม จะมีโอกาสเสี่ยงแท้งลูกได้มากกว่าหญิงที่ไม่ได้บริโภคคาเฟอีนถึง 2 เท่า ในขณะที่ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าการที่คุณแม่ตั้งครรภ์บริโภคคาเฟอีนวันละ 200 – 350 มิลลิกรัมนั้นไม่ได้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูกแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เอาเป็นว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจำกัดปริมาณในการบริโภคคาเฟอีนอยู่ที่วันละ 200 มิลลิกรัม น่าจะดีที่สุด
เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย
เป็นผลข้างเคียงจากการที่ร่างกายขาดน้ำ (เพราะคาเฟอีนช่วยขับปัสสาวะ) จึงส่งผลให้ผิวหนังเกิดรอยแดงและมีริ้วรอยก่อนวัย นอกจากนี้ยังมีพิษที่สะสมซึ่งนำไปสู่การเกิดสิวได้ เมื่อร่างกายมีพิษสะสมก็จะมีผลต่อตับของทั้งคุณแม่และของลูกน้อยในครรภ์ รวมไปถึงการเพิ่มปริมาณโซเดียม คาร์บ และแอลกอฮอล์ในร่างกายของคุณแม่อีกด้วย
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
ในบางครั้งโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ก็มักเกิดขึ้นบนผิวหนังของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มกาแฟ decaf มากกว่า 70 มล. ซึ่งสามารถทำให้คุณแม่เป็นลมพิษ ผื่น และสิว มีอาการคันอย่างรุนแรงบริเวณผิวหนัง ซึ่งสิ่งนี้สามารถส่งต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
มีผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร
กาแฟแบบ decaf มีส่วนเพิ่มความเป็นกรดและเพิ่มอาการแสบร้อนทรวงอก นอกจากนี้ยังทำเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีอาการลำไส้แปรปรวน (IBS) และทำให้ระบบขับถ่ายของลูกน้อยผิดปกติอีกด้วย
ขาดธาตุเหล็ก
เพราะคาเฟอีนคือตัวขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ต้องการ
ผมร่วง
กาแฟแบบ decaf มีส่วนทำให้ผมร่วงมาก เนื่องจากมันจะไปลดการเจริญเติบโตของเส้นผม รวมถึงลดการผลิตของเส้นผมใหม่
เสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับประสาทตา
หากคุณแม่บริโภคคาเฟอีนมากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน คาเฟอีนจะส่งผลต่อการมองเห็น จอประสาทตาอ่อนแอ มีผลต่อค่าสายตาและความแข็งแรงของเรตินา ซึ่งเหล่านี้ส่งผลต่อลูกน้อยได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินของลูกน้อยอีกด้วยค่ะ
คนท้องควรดื่มกาแฟหรือบริโภคคาเฟอีนได้ในปริมาณเท่าใด?
แม่ตั้งครรภ์สามารถบริโภคคาเฟอีนใด้ในระดับที่ปลอดภัย คือ
ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม / วัน
นอกจากนี้ ก่อนการกินยาอะไรในทุกครั้งหากคุณแม่ซื้อมาเอง ควรปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ เพื่อให้แน่ใจว่าจะปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
ต้องงดเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีคาเฟอีนด้วยไหม?
คุณแม่สามารถดูปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้ ดังนี้
กาแฟ
- กาแฟชง 237 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 95-165 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- กาแฟสำเร็จรูป 237 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 63 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- กาแฟลาเต้หรือมอคค่า 237 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 63-126 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- กาแฟเอสเพรสโซ่ 30 มิลลิลิตร มีคาเฟอีนประมาณ 47-64 มิลลิกรัม
ชา
- ชาชง 237 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 48 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ชาสำเร็จรูป 237 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 26-36 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ขาเขียว 177 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 40 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ชาดำ 177 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 45 มิลลิกรัม โดยประมาณ
ช็อกโกแลตและโกโก้
- โกโก้ร้อน 355 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 8-12 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- นมช็อกโกแลต 237 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 5-8 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ช็อกโกแลตธรรมดา 50 กรัม มีคาเฟอีน 25 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ดาร์กช็อกโกแลต 41 กรัม มีคาเฟอีน 30 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ช็อกโกแลตนม 44 กรัม มีคาเฟอีน 11 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- ช็อกโกแลตแบบหวานน้อย 1 ใน 4 ของถ้วย มีคาเฟอีน 26-28 มิลลิกรัม โดยประมาณ
เครื่องดื่มอื่น ๆ
- ไอศกรีมหรือโยเกิร์ตรสกาแฟครึ่งถ้วย มีคาเฟอีน 2 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- น้ำอัดลม 355 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 37 มิลลิกรัม โดยประมาณ
- เครื่องดื่มชูกำลัง 250 มิลลิลิตร มีคาเฟอีน 80 มิลลิกรัม โดยประมาณ
งานนี้สำหรับคุณแม่สายคาเฟอีนถ้าจะบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มาคาเฟอีน ก่อนกินอาจจะต้องคำนวณปริมาณคาเฟอีนกันสักนิดหนึ่ง อาจจะดูยุ่งยากหน่อยแต่ก็เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์นะคะ
ข้อมูลอ้างอิง pobpad.com