ลูกนอนดึก ไม่ยอมนอนตอนกลางคืน ทำไงดี
ลูก ๆ บ้านไหนเป็นกันบ้าง ตอนเวลากลางคืนไม่ยอมหลับไม่ยอมนอนแอคทีฟทั้งคืน ทำเอาผู้ปกครองอย่างเราเพลียไปตามกัน พยายามพาลูกเข้านอนเร็วแล้ว เปิดเพลงกล่อมนอนก็แล้ว อ่านนิทานให้ฟังก็แล้ว เป็นต้นลูก ๆ ก็ยังไม่รู้สึกง่วง บางครั้งทำเอาผู้ปกครองหลับก่อนลูกเลยก็มี นอกจากลูกนอนดึกทำให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองเหนื่อยแล้ว การที่ลูกน้อยนอนดึกอาจส่งผลต่อการพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ อีกด้วยวันนี้เรามีวิธีรับมือกับลูกนอนดึก ไม่ยอมนอนตอนกลางคืนมาฝากผู้ปกครองทุกท่าน ไปดูพร้อมกันเลยว่าเราจะรับมืออย่างไรเมื่อลูกนอนดึกจนเป็นนิสัย
เด็ก ๆ ควรนอนกี่ชั่วโมงดี
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าลูกน้อยอายุประมาณ 1-3 ขวบควรพักผ่อนนอนหลับอย่างน้อย 9-13 ชั่วโมง และควรเข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากหลังจากลูกน้อยนอนหลับประมาณ 1 ชั่วโมงร่างกายจะเริ่มหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ออกมา จะหลั่งอีกครั้งในช่วงเวลา 23.00 น. ถึง 03.00 น. ดังนั้นถ้าลูก ๆ นอนดึกจะส่งผลให้การหลั่งของโกรทฮอร์โมนไม่เพียงพอ การพักผ่อนไม่เพียงพอและยังส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สมอง ความเครียด การเจริญเติบโตของเด็กๆอีกด้วย
สัญญาณเตือนว่าลูกพักผ่อนไม่เพียงพอ
สัญญาณที่กำลังเตือนว่าลูกน้อยพักผ่อนไม่เพียงพอจากการนอนดึก มีสัญญาณต่างกันในแต่ละช่วงวัยของเด็ก ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมเบื้องต้นของเด็ก ๆ ได้ดังต่อไปนี้
ช่วงวัยทารก-วัยหัดเดิน
เด็กที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอในช่วงวัยนี้มีแสดงออกทางให้เห็นทางอารมณ์ แช่น หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้งอแง หลับในท่าแปลก ๆ เช่น ขณะรับประทานอาหาร หรือกำลังทำกิจกรรมบางอย่าง ร่วมทั้งการกรนของเด็ก
ช่วงวัยประถม
เด็กในช่วงวัยนี้สามารถสังเกตจากอาการง่วงระหว่างวันที่อาจเกิดขึ้น สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อหรือโฟกัสกับบางสิ่งบางอย่างเป็นเวลานานได้ รวมทั้งอาการรู้สึกง่วงหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า
ช่วงวัยรุ่น
สามารถสังเกตได้จากอาการง่วง หาวบ่อย ระหว่างวัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ยังเกิดอาการง่วง อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ สมองประมวลผลช้ากว่าปกติ
สาเหตุที่ทำให้ลูกนอนดึก
ลูกนอนดึก นอนหลับยากในช่วงกลางคืนสามารถเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยทั้งจากตัวเด็กเอง และปัจจัยภายนอก มาดูกันค่ะว่ามีปัจจัยจากอะไรบ้างที่อาจส่งผลให้ลูกน้อยนอนดึก รู้สึกไม่ง่วงในช่วงเวลากลางคืน
- ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายสามารถทำให้เด็ก ๆ งอแง หงุดหงิด ไม่สบายตัวจึงทำให้นอนไม่หลับ
- กลัวบางสิ่งบางอย่าง จินตนาการถึงเรื่องน่ากลัวจนไม่กล้านอน
- นิสัยพื้นฐานเป็นคนนอนหลับยาก
- ติดเกมส์ ห่วงเล่น ยังสนุกกับการเล่นจนทำให้ไม่รู้สึกง่วง
- นอนหลับในช่วงหัววันก่อนค่ำ หรือนอนในช่วงเวลากลางวันมากเกินไป
- ลักษณะที่นอน ห้องนอน รวมถึงสภาพอากาศไม่เหมาะต่อการนอนหลับพักผ่อน
- มีเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม
- ผู้ปกครองนอนดึกทำให้เด็ก ๆ นอนดึกตาม
วิธีรับมือกับลูกนอนดึก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองบ้านไหนที่กำลังเผชิญปัญหาลูก ๆ นอนหลับยาก นอนดึก นอนไม่หลับช่วงกลางคืนบ่อย ๆ จนส่งผลต่อสุขภาพ พัฒนาการด้านสมองและอารมณ์ของเด็ก ๆ มาดูวิธีจัดการเมื่อลูกนอนดึกไปพร้อมกันค่ะว่าเราสามารถรับมือกับปัญหานี้อย่างไร
ปรับสภาพแวดล้อมห้องนอน
ทำให้ห้องนอนเหมาะกับการพักผ่อนมากที่สุด เป็นห้องที่เงียบ ไม่มีแสงสว่างรบกวนการนอน ไม่มีโทรทัศน์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อุณหภูมิภายในห้องเหมาะสมต่อการพักผ่อน
กำหนดเวลาเล่นของลูก
ควรคุยและตกลงกับลูกในเข้าใจตรงกันว่าลูกสามารถเล่นได้ถึงกี่โมง และต้องเข้านอนช่วงเวลาไหน รวมถึงระยะเวลาเล่นเกมส์ มือถือ สื่อต่าง ๆ เป็นต้น
ปรับตารางกิจกรรมหลังเลิกเรียน
หากลูก ๆ บ้านไหนมีกิจกรรมต่าง ๆ หลังเลิกเรียนเช่นเรียนพิเศษ เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำการบ้าน ผู้ปกครองควรช่วยจัดตารางเวลากิจกรรมทุกอย่างให้เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป และไม่กระทบกับช่วงเวลาพักผ่อนนอนหลับของลูก ๆ
ออกกำลังกาย
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถช่วยให้การนอนกลับดีขึ้น ผู้ปกครองอาจชวนลูก ๆ ออกกำลังกายในช่วงเย็นของทุกวัน หรือ 3-4 วันต่อสัปดาห์
จัดเวลานอนและตื่นให้เหมาะสม
ผู้ปกครองสามารถช่วยให้ลูก ๆ ได้มีเวลาพักผ่อนเพียงพอโดยการจัดตารางการเข้านอนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน รวมถึงเวลาตื่นนอนในแต่ละวันด้วย และควรจัดตารางการพักผ่อนให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงวัย
ลูกนอนดึกมักส่งผลต่อการพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อลูกๆพักผ่อนไม่เพียงพอยังส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านการเจริญเติบโต สมอง อารมณ์ สมาธิของเด็ก ๆ อีกด้วย ดังนั้นผู้ปกครองควรจัดสรรเวลากิจกรรมในแต่ละวันของลูกไม่ให้กระทบต่อการนอนหลับในช่วงกลางคืน รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับพักผ่อนของลูก เป็นอีกหนทางที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอน และทำให้เด็ก ๆ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน