ลูกพูดช้า แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ พร้อมวิธีรับมือ
เมื่อลูกเกิดมาสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่รอคอยก็คงจะเป็นวันที่เจ้าตัวเล็กเริ่มพูด ปกติแล้วเด็กจะเริ่มพูดอ้อแอ้ในช่วง 4 เดือนเป็นต้นไป จนถึงขึ้นพูดสนทนากับพ่อแม่ได้คือช่วงประมาณ 2-3 ปี แต่สิ่งหนึ่งเลยที่ทุกบ้านจะรู้สึกกลัวก็คือ ลูกพูดช้า จริง ๆ แล้วการที่ลูกพูดช้านั้นเกิดจากปัจจัยทางแวดล้อมหลาย ๆ อย่าง ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ รวมไปถึงการพัฒนาการการพูดแบบไหนที่ผิดปกติที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ
พัฒนาการด้านการพูด – ปกติ
ก่อนที่จะปักใจว่าลูกพูดช้านั้นให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดีก่อนค่ะว่าพัฒนาการทางการพูดของลูกเป็นไปตามช่วงวัยตามที่แพทย์ระบุไว้หรือไม่
อายุ 1-2 เดือน
ช่วงวัย 1-2 เดือนเด็กจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ สะดุ้งต่อเมื่อได้ยินเสียงดัง จะร้องก็ต่อเมื่อหิวหรือรู้สึกไม่สบายตัว
อายุ 3-4 เดือน
ในช่วงวันนี้อาจจะยังดูไม่ออกว่าลูกพูดช้า ลูกจะสนใจในคำพูดของผู้คนมากยิ่งขึ้น แต่จะส่งเสียงร้องในขณะที่รู้สึกไม่พอใจ
อายุ 5-6 เดือน
ในวัยนี้เด็กจะเริ่มหันไปตามเสียงได้ เริ่มส่งเสียงเลียนแบบผู้อื่นส่วนมากจะเป็นคำที่ลงท้ายด้วยสระอา เช่น มามา อาอา
อายุ 7-9 เดือน
เด็กวัยนี้จะเริ่มทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้นิดหน่อยเช่นการสวัสดี หรือแม้กระทั่งถูกดุเด็กก็จะหยุดกิจกรรมนั้น ๆ ทันที ในวัยนี้เด็กสามารถส่งเสียงเริ่มชัดขึ้นแต่เป็นพยางค์เดียวได้แล้ว ถ้าหากลูกพูดช้าในช่วงเดือนนี้อาจจะยังไม่ส่งเสียงคำออกมา
อายุ 10-12 เดือน
เริ่มทำตามคำสั่งได้มากยิ่งขึ้น เข้าใจคำที่คุณพ่อคุณแม่พูดมากยิ่งขึ้น และเริ่มส่งเสียงคำว่าแม่ได้แล้ว
อายุ 1 ขวบ
หากลูกพูดช้าในวัย 1 ขวบคุณพ่อกับคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะสังเกตุเห็นแล้วว่าลูกพูดช้ากว่าวัย เด็กในวัยนี้เริ่มจะพูดคำที่มากกว่า 1 พยางค์ได้ สามารถโต้ตอบได้บ้าง เรียกชื่อตัวเองได้
อายุ 2-3 ขวบ
เด็กเริ่มเข้าใจคำศัพท์ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการสื่อสารมากยิ่งขึ้น พูดเป็นประโยคยาวมากขึ้น เล่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ บอกชื่อสิ่งของ ชื่อผู้อื่นได้ ถ้าลูกพูดช้ามักจะไม่สามารถพูดเป็นประโยคยาว ๆ ได้
สาเหตุ ลูกพูดช้า
การที่ลูกมีพัฒนาด้านการพูดที่ช้านั้นอาจจะเกิดได้หลายสาเหตุและหลายปัจจัย อาจจะเป็นพัฒนาการไม่เหมาะตามช่วงวัย หรือสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการ
ไม่ได้รับการกระตุ้นทางการพูดที่ไม่เหมาะสม
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่คอยพูดคำที่ลูกต้องการแทนลูกอยู่เสมอ ๆ ไม่ได้ให้ลูกได้ส่งเสียงออกมาจะทำให้ลูกพูดช้าหรือพูดผิดปกติตามพัฒนาการทางด้านการพูดตามวัย
ปัญญาอ่อน
การที่เด็กปัญญาอ่อนนั่นคือมีระดับเชาว์ปัญญาที่น้อยกว่า 70 เด็กที่มีอาการนี้จะมีพัฒนาการทุก ๆ อย่างที่ช้าลงรวมไปถึงการตอบสนองต่อสิ่งอื่น ๆ
ออทิสติก
เด็กออทิสติกคือเด็กที่มีปัญหาทางการพูดหรือตามที่คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกจะพูดช้า หรือเด็กอาจจะมีปัญหาทางการเข้าสังคม เด็กมักจะไม่ฟังคำสั่งของคุณพ่อคุณแม่ ไม่หันตามคำเรียกของคนอื่น และมักจะชอบทำอะไรเดิม ๆ ซ้ำ ๆ
ประสาทหูบกพร่อง
อาการลูกพูดช้าอาจจะเกิดจากการที่หูของเด็กมีปัญหาหรือบกพร่องทางการได้ยิน ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะเรียนรู้การสื่อสารได้
ลูกพูดช้า แบบไหนเรียกว่าผิดปกติ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเจ้าตัวเล็กมาตั้งแต่เกิดแล้วพัฒนาการทางการสื่อสารของลูกไม่เป็นไปตามข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งได้แก่
- มีทักษะทางการสื่อสารที่ผิดปกติ
- เรียกแล้วไม่หันหรือไม่มีการสื่อสารตอบกลับ
- ไม่ส่งเสียงในขณะที่มีความต้องการ เช่น หิว ปวดท้อง หรืออื่น ๆ
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างมากเลยคือ การหันมาพูดคุยกับลูกมากขึ้นโดยเว้นวรรคให้ลูกได้ตอบกลับบ้างเป็นช่วง ๆ
ลูกพูดช้า แบบไหนที่ควรพบแพทย์
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะสงสัยว่าลูกพูดช้าแบบไหนที่ต้องพาไปพบคุณหมอ ถ้าหากช่วง 15 เดือนแรกลูกของคุณยังคงไม่ส่งเสียงการพูดคำแรกออกมาเช่นคำว่า แม่ หม่ำ ปลา หรือคำง่ายอื่น ๆ เรียกได้ว่าควรเข้าไปพบแพทย์ได้แล้วเพื่อแก้ปัญหาพัฒนาการด้านการพูดที่ช้าของลูกได้ทันท่วงที และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอมาแล้วให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และเน้นการพูดคุยกับเจ้าตัวน้อย ใช้วิธีการกระตุ้นให้ลูกพูดอย่างถูกต้องและให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกได้รับการกระตุ้นทางการสื่อสารในแบบที่ควรจะได้รับ
เมื่อลูกพูดช้าสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำคือการพูดคุยกับลูกมากยิ่งขึ้น การอ่านนิทานให้ลูกฟังมากขึ้น ถามคำถามลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกมีการตอบสนองมากยิ่งขึ้น เมื่อลูกได้รับการรักษาที่ถูกต้องแล้วลูกของเราจะมีพัฒนาการทางการสื่อสารในแบบเหมาะสมตามวัยแน่นอน