ชาสมุนไพรจากดอกไม้ รักษาโรคได้จริงหรือ?
นอกจากชาสมุนไพร ที่เก็บจากยอด ใบอ่อน เปลือก เนื้อ และเมล็ดพันธุ์ของพืชชนิดต่าง ๆ จะนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพของไทยเราแล้ว “ชาดอกไม้” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชาสมุนไพร ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ทั้งในแง่ของเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ และอุตสาหกรรมการผลิตชาสมุนไพรของไทยเราอีกด้วย
ประวัติความเป็นมาการดื่มชาสมุนไพร
ประวัติความเป็นมาของการดื่มชาสมุนไพร มีปรากฎเป็นบันทึกในประวัติศาสตร์มานานกว่า 2,167 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว โดยชาติแรกที่ริเริ่มการดื่มชาสมุนไพรเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันก็คือ ชาวจีน นั่นเอง ทั้งนี้ในบันทึกของชาวจีนได้กล่าวยกย่องจักรพรรดิเสินหนง ผู้ทรงค้นพบวิธีการดื่มชาเป็นคนแรก เป็นบิดาแห่งแพทยศาสตร์ เพราะนอกจากจะทรงค้นพบวิธีการดื่มชาเพื่อบำรุงสุขภาพแล้ว ยังทรงคิดค้น และทดลองนำสมุนไพรกว่า 200 ชนิด มาทำเป็นยารักษาโรคอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อวิวัฒนาการการสื่อสารระหว่างประเทศเจริญรุดหน้าขึ้น การดื่มชามิได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศจีนอีกต่อไป แต่ยังแพร่กระจายไปสู่วัฒนธรรมของชนชาติต่างๆ อีกด้วย เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งในเวลาต่อมา วัฒนธรรมการชงชาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสำคัญของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย) ตามมาด้วยประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ. 1818 – 1834 ตามแนวเทือกเขาหิมาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ก่อนจะแพร่เขาสู่เนปาล และนิเปอร์ในเวลาต่อมา
กาลเวลาผ่านไปไม่นาน ความนิยมในการดื่มชาได้แพร่สะพัดเข้าสู่ศรีลังกา กลายเป็นที่มาของต้นกำเนิดชาซีลอนอันเลื่องชื่อระดับโลก (ซีลอน เป็นชื่อที่ชาวอังกฤษใช้เรียกประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณานิคมของตนเองขณะนั้น)…
สำหรับประวัติความเป็นมาของการดื่มชาสมุนไพร รวมไปถึงแหล่งผลิตชาที่สำคัญ ยังมีอีกหลายแห่งด้วยกัน โดยอังกฤษถือเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ริเริ่มและนิยมดื่มชา จนกลายเป็นวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน ตามมาด้วยฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระองค์เสวยชา เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น…และรัสเซียก็คืออีกหนึ่งประเทศ ที่เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตชา เพื่อการบริโภคและจำหน่าย โดยเฉพาะที่รัฐจอร์เจีย ชายฝั่งทะเลดำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเราถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความนิยมในการดื่มชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีการใช้เครื่องดื่มชา ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งในระยะแรกนั้น ชาที่ปลูกจะเป็นสายพันธุ์อัสสัม มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในแถบภาคเหนือ เช่น จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน เป็นต้น
ชาสมุนไพรจากดอกไม้ มีอะไรบ้าง ให้ประโยชน์อย่างไร
ชาสมุนไพรจากดอกไม้ ที่นิยมนำมาปรุงเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ช่วยให้ผ่อนคลาย แถมยังมีส่วนช่วยทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น
ชาดอกบัวหลวง
ชาดอกบัวหลวง ทำจากกลีบ และเกสรดอกบัวหลวง นิยมใช้เป็นยาสมุนไพรบำรุงหัวใจ บำรุงไต บำรุงโลหิตมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งนี้เพราะนอกจากดอกบัวหลวงจะหาได้ง่าย และมีกลิ่นหอมนุ่มนวล ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจเวลาดื่มแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ชาดอกกุหลาบ
ชาดอกกุหลาบ ทำจากกลีบดอกกุหลาบมอญ ซึ่งนิยมนำมาสกัดเป็นน้ำปรุง หรือน้ำหอม มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะกลิ่นหอมอบอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์ และไอระเหยของความอบอุ่นจากกลีบกุหลาบ นอกจากจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังมีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดความตึงเครียด ทำให้นอนหลับสบาย ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายได้อีกด้วย
ชาดอกมะลิ
ชาดอกมะลิ ทำจากดอกมะลิอบ หรือตากแห้ง ไช้ได้ทั้งส่วนกลีบดอก และฐานรองดอก กลิ่นหอมเย็นชื่นใจของดอกมะลิมีสรรพคุณในการคลายความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้การดื่มชาดอกมะลิอุ่นๆ ยังช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และลดอาการปวดท้องเนื่องจากท้องร่วง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ และอาการปวดบิด ได้อีกด้วย
ชาดอกอัญชัน
ชาดอกอัญชันทำจากกลีบดอกอัญชัน ซึ่งดอกอัญชันนอกจากจะมีวิตามินเอ และซีสูง ช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา กระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด และบำรุงโลหิตแล้ว ยังมีสารแอนโทไซยานิน และแอนติออกซิแดนซ์ในปริมาณที่สูงอีกด้วย ซึ่งสารสำคัญสองชนิดนี้เองที่มีสรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
ชาดอกเก๊กฮวย
ชาดอกเก๊กฮวย มีอยู่ 2 ชนิดคือ ทำจากดอกเก๊กฮวยขาว และเก๊กฮวยดอกสีเหลือง มีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ ที่สำคัญคือ ไม่มีคาเฟอีน จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาดื่มก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับสบาย ผ่อนคลายความตึงเครียด นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา สามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความร้อนในร่างกาย ลดไข้ แก้ปวดหัว ช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหาร และตับมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยบำรุงสายตา บำรุงหัวใจ ช่วยลดระดับความดันโลหิต และลดคอเลสเตอรอลในร่างกายได้อีกด้วย
ชาดอกคำฝอย
ชาดอกคำฝอย ทำจากเกสรดอกคำฝอยสีเหลืองเข้ม ซึ่งมีสรรพคุณในการขับเหงื่อ ลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด แก้อาการปวดท้อง ประจำเดือนมาไม่ปกติ (คนท้องห้ามรับประทาน เพราะจะไปกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ทำให้แท้งบุตรได้) และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ชาดอกดาวเรือง
ชาดอกดาวเรืองอุดมไปด้วยสารลูทีน สรรพคุณช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา แถมยังช่วยลดความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียของสายตา ที่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานได้อีกด้วย นอกจากนี้ชาดอกดาวเรืองยังมีสรรพคุณทางยา ใช้แทนยาลดไข้ แก้อาการเวียนศีรษะ บรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ ลดการอักเสบของลำคอ แถมยังมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืด แน่นท้อง ช่วยขับลมได้อีกด้วย
ชาดอกหอมหมื่นลี้
ดอกหอมหมื่นลี้ถูกใช้เป็นเครื่องยาจีนมานานหลายศตวรรษ ด้วยกลิ่นที่หอมจรุงใจ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ผ่อนคลายความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียนี้เองจึงมีผู้นิยมรับประทานกันมาก โดยเฉพาะถ้ารับประทานก่อนนอนจะช่วยให้ผ่อนคลายความกังวล นอนหลับง่าย และหลับสบายยาวนานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้อีกด้วย
ชาดอกขี้เหล็ก
มีสรรพคุณในการผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวล ช่วยให้นอนหลับสบาย แถมยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้อีกด้วย แต่การรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเป็นอันตรายต่อระบบการทำงานของตับและไตได้ (ผู้ป่วยโรคไต และโรคเบาหวานไม่ควรรับประทาน)
ชาดอกพิกุล
ดอกพิกุลถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาแผนโบราณของไทยมานาน ด้วยเพราะกลิ่นหอมเย็นสดชื่นของดอกพิกุล ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด และยังช่วยลดไข้ ลดการอักเสบ ช่วยบำรุงหัวใจ และหากนำมารับประทานหลังมื้ออาหารค่ำ จะช่วยทำให้นอนหลับสบายได้อีกด้วย
ข้อควรระวังในการดื่มชาสมุนไพร
ข้อควรระวังในการดื่มชาสมุนไพรทุกชนิดมีดังนี้ คือ
ไม่ดื่มชาสมุนไพรร่วมกับการรับประทานยาทุกชนิด
โดยเฉพาะยาประจำตัวของผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ หรือบางครั้งตัวยาในชาชนิดนั้นๆ อาจไปเสริมพลังร่วมกันกับยา ทำให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น เป็นต้น
ไม่ควรดื่มชาก่อนนอน
ชาบางชนิด (เช่น ชาเขียว) มีคาร์เฟอีนเป็นส่วนประกอบ รับประทานแล้วจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่ไม่ควรนำมาดื่มก่อนนอน เพราะอาจจะทำให้นอนไม่หลับได้
ไม่มีควรดื่มชาติดต่อกัน 3 วัน
ชาบางชนิดมีรสขม เช่น ชาดอกขี้เหล็ก หากรับประทานแต่น้อย และไม่ดื่มติดตอกันเป็นเวลานานเกิน 3 วันก็จะช่วยในเรื่องการขับถ่าย และช่วยให้นอนหลับได้ดี แต่หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเป็นพิษต่อตับ และไตได้ (เช่นเดียวกับการดื่มชาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีรสขมเช่นกัน)
ชาบางชนิดมีผลต่อระดับความดันโลหิต
กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต (เช่น ชาคาร์โมมายด์) จึงเหมาะสำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติจะนำมาดื่ม แต่ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เป็นต้น
แม้ชาดอกไม้จะเป็นชาสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมจรุงใจ และให้คุณประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพอย่างมากมาย แต่กระนั้นการดื่มชาสมุนไพรจากดอกไม้ก็ยังมีข้อควรระวัง สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับบางชนิด หรือสตรีในภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น ดังนั้นก่อนการรับประทานชาสมุนไพรทุกชนิด พึงควรศึกษาคุณประโยชน์ และผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของตนเองให้แน่ชัดเสียก่อน จึงค่อยรับประทาน จะเป็นการดีที่สุดค่ะ