ลูก 3 ขวบเจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว เอาแต่ใจ พร้อมวิธีปรับพฤติกรรม

ลูก 3 ขวบเจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว เอาแต่ใจ พร้อมวิธีปรับพฤติกรรม
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 09 09

“ลูก 3 ขวบ ก้าวร้าว เอาแต่ใจ จะรับมืออย่างไรดี?”

การที่เด็ก 3 – 5 ขวบส่งเสียงร้องกรี๊ด ๆ อาระวาด หงุดหงิด เอาแต่ใจ ไม่ทำตามคำสั่ง ความจริงแล้วอากัปกิริยาเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมตามช่วงวัยของเด็กทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าอยู่ ๆ วันหนึ่งเด็ก ๆ ก็ส่งเสียงร้องไห้ งอแง อาละวาดขึ้นมา เมื่อรู้สึกไม่พอใจ หรือไม่ต้องการจะทำอะไรตามคำสั่งที่ได้รับ แต่ถึงกระนั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ หากคุณพ่อคุณแม่จะปล่อยให้ลูก ๆ ทำพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีการห้ามปราม ตักเตือน หรืออบรมณ์สั่งสอน เพราะเด็กอาจเข้าใจไปว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องดีแล้ว จึงจดจำ และทำเช่นนั้นบ่อย ๆ จนในที่สุดก็จะติดเป็นนิสัย กลายเป็นเด็กก้าวร้าวไปโดยไม่รู้ตัว!

พัฒนาการเด็กวัย 3 – 5 ขวบ

ก่อนที่เราจะไปเรื่องการปรับพฤติกรรมเด็กที่เจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ อยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กแต่ละช่วงวัย ดังนี้ค่ะ

พัฒนาการเด็กวัย 3 ขวบ

ชอบเล่นบทบาทสมมุติ

มีจินตนาการและอารมณ์ที่หลากหลาย หวาดกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เขาจินตนาการถึงอันตรายที่มองไม่เห็น เช่น ความมืด ผี สัตว์ประหลาด มนุษย์ต่างดาว ฯลฯ

สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องมากขึ้น

สามารถวิ่ง กระโดด ยืนขาเดียวได้ในระยะเวาลาสั้น ๆ สามารถปีนป่าย ก้าวขึ้นลงบันไดได้คล่องแคล่วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจับราวบันได

ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้

เช่น สามารถสวมใส่เสื้อผ้า หรือถอดถุงเท้า รองเท้า ได้ด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง รับประทานอาหารเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องป้อน

อยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เด็กในวัยนี้ เขาเริ่มพูดสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจได้มากขึ้น เขาจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับในตัวเขา ด้วยการให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

อยากทำอะไรด้วยตัวเอง

เป็นเพราะลูก ๆ ต้องการการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่ ต้องการคำชื่นชม กำลังใจ เขาจึงพยายามที่จะแสดงความสามารถแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ๆ ในสายตาคุณพ่อคุณแม่

คำศัพท์ในหัวลูกน้อย

ขอนี้สำคัญมากค่ะ เพราะลูกเพิ่งจะมีอายุในโลกใบนี้ได้ไม่กี่ปี ดังนั้น การที่เขาพยายามจะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจจึงดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และเมื่อเขาไม่สามารถอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ เขาจึงหงุดหงิด หงุดหงิดทั้งตัวเอง และหงุดหงิดทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่ทำไมไม่เข้าใจเขาสักที

สามารถฟังคำสั่งง่าย ๆ และปฏิบัติตามได้

เช่น ยกมือขวา เกาหู รู้และเข้าใจตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่างๆ เช่น ข้างบน ข้างล่าง เป็นต้น

พัฒนาการเด็กวัย 4 – 5 ขวบ

มีความจำที่ดี

สามารถท่องจำตัวอักษร ตัวเลข เข้าใจตัวหนังสือ สามารถร้องเพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนานได้มากขึ้น

พูดสื่อสารได้เป็นประโยคมากขึ้น

สามารถพูดโดยการเรียงลำดับรูปประโยคได้อย่างถูกต้อง และสามารถเขียนชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของที่บ้านตนเองได้อีกด้วย

ทว่า อย่างไรก็ตาม เด็กในช่วงวัย 3 – 5 ขวบ ยังมีความสับสนระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง เช่น นิทาน หรือภาพยนต์ พวกเขายังไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริง กับเรื่องที่แต่งขึ้นออกจากกันได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรต้องอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจ ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง เรื่องไหนเป็นเรื่องแต่ง เด็กๆ ก็จะรับรู้ และเข้าใจได้ในที่สุด

สาเหตุที่ลูก 3 ขวบ เจ้าอารมณ์ วิธีรับมือ และปรับพฤติกรรม

สาเหตุที่ลูก 3 ขวบเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ เป็นเพราะ…

คุณพ่อคุณแม่ให้อิสระกับลูกมากเกินไป

หรือที่โบราณเรียกว่า ตามใจจนเคยตัว ลูกอยากทำอะไรตอนไหน หรือไม่อยากจะทำอะไรตอนไหนก็ปล่อยไปตามใจ จนเด็กๆ ไม่รู้จักระเบียบวินัย ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร แล้วอยู่ดี ๆ วันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็มาบอกกับพวกเขาว่า ลูกต้องทำสิ่งนี้ สิ่งนั้น ในเวลานั้น เวลานี้ หรือต้องทำเดี๋ยวนี้ เด็กๆ จะเกิดความสับสน ไม่ยอมรับ ปฏิเสธที่จะทำตามด้วยการร้องไห้ งอแง อาระวาด…

วิธีปรับพฤติกรรม

คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองตามเวลาที่กำหนด เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว เล่นของเล่น ฯลฯ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ และถูกฝึกฝนให้อยู่ในระเบียบวินัยตั้งแต่เล็ก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เขารู้จักระเบียบวินัย การเสียสละ และการรอคอย เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสังคมอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป

คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาคุณภาพให้ลูก

ซึ่งแน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะในสังคมเมือง บ่อยครั้งที่ลูกถูกปล่อยให้อยู่กับพี่เลี้ยงตามลำพัง เด็กๆ จึงรู้สึกเหมือนตนเองถูกละเลย จึงเกิดการสร้างพฤติกรรมบางอย่างขึ้นมาเพื่อ “เรียกร้องความสนใจ” เช่น การกรีดร้อง การโวยวาย การอาระวาด การแสดงอารมณ์ก้าวร้าว เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจพวกเขาบ้าง…

วิธีปรับพฤติกรรม

คุณพ่อคุณแม่ควรแบ่งเวลาให้กับลูกบ้าง เช่น อาจเป็นคำทักทายยามเช้า ดูว่าเขาทำอะไรอยู่ พูดคุยถามไถ่แสดงความคิดเห็นร่วมกันกับเขา เล่นกับเขาบ้างเพียงวันละเล็กน้อยก็ยังดี แสดงให้เขาเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่ยังสนใจ ใส่ใจ และไม่เคยทอดทิ้งเขาไปไหน เด็กๆ จะเกิดความสบายใจ และคลายความวิตกกังวลลงได้ เพราะโลกของเด็กในวัยนี้ล้วนมีแต่สิ่งที่น่ากลัว หลายสิ่งที่เขาไม่รู้ และต้องการคำอธิบายจากพ่อแม่มีอยู่มากมาย และพวกเขาก็ต้องการคำตอบของมันตลอดเวลา

เอะอะอะไรก็ให้สิ่งของ

คุณพ่อคุณแม่บางคนพอเห็นลูกร้องไห้ก็จะพยายามรีบหาของเล่นจับใส่มือ หรือไม่ก็หาสิ่งของใดๆ ที่ลูกต้องการมาหยิบยื่นให้ทันที เพื่อให้ลูกหยุดร้อง และนี่เอง ที่กลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาความเอาแต่ใจ เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ว่า แค่พวกเขาร้องให้ จะเอาอะไรพ่อแม่ก็จะต้องหามาให้ทุกอย่าง…

วิธีปรับพฤติกรรม

  • การดุด่าว่ากล่าว การลงโทษ ทุบตี รวมถึงการ “โอ๋” เอาใจด้วยการหยิบยื่นสิ่งต่าง ๆ ให้ เพื่อให้ลูกหยุดร้อง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และควรทำแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่ลูกร้องงอแง เอาแต่ใจ ไม่ยอมทำตามคำสั่ง เช่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกให้ลูกเลิกเล่นของเล่น แล้วเตรียมตัวเข้านอน แต่เจ้าตัวเล็กกลับร้องงอแง ไม่ยอมท่าเดียว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ปล่อยให้เขาร้องโยโยต่อไปอีกสักพัก เมื่ออาการงอแงสงบลงแล้ว จึงค่อยเข้าไปพูดคุยด้วยความใจเย็น และอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงทำเช่นนั้น จะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจเหตุผล และยอมที่จะทำตามคำสั่งในครั้งต่อไปได้ง่ายขึ้น
  • อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การเสนอทางเลือกให้กับลูก เช่น บอกกับเขาว่า “พ่อ/แม่ ให้เวลาลูกเล่นอีก 10 นาทีนะครับ/คะ หมดเวลาแล้วต้องเข้านอนนะ ตกลงไหม?” การเสนอทางเลือกจะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูกบังคับ ตรงข้ามเขากลับรู้สึกเหมือนตนมีความสำคัญ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ใจร้อน หัวร้อน ไร้ความอดทน

เด็กในวัยนี้มักคิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว และยังขาดความอดทนอดกลั้น ยกตัวอย่าง เช่น เวลาหิวอยากได้ขนมก็ร้องจะกินให้ได้เดี๋ยวนั้น ใครหามาให้ไม่ทันใจก็ร้องงอแง อาระวาด เป็นต้น

วิธีรับมือ

คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็กรู้จักระเบียบวินัย การทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง รวมถึงการฝึกให้เป็นคนตรงต่อเวลา และรู้จักความอดทน อดกลั้น เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า ไม่ใช่ทุกสิ่งที่เขาต้องการ จะได้ตามใจไปเสียทั้งหมด เด็ก ๆ ควรถูกฝึกให้รู้จักความผิดหวัง และการรับมือกับความผิดหวังนั้นด้วยตนเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยยืนอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ และปลอบโยน เมื่อเขารู้สึกถึงความผิดหวัง นอกจากนี้การพาเด็กๆ ไปพบกับสังคมใหม่ๆ ให้เขาได้เข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนเด็กๆ ในวัยเดียวกัน เพื่อฝึกให้เขารู้จักความอดทน การรอคอย การเสียสละ และการให้อภัย ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี เมื่อเขาเติบโตขึ้น เป็นต้น

อาการลูกเจ้าอารมณ์ โกรธแบบที่น่าเป็นห่วง (แบบนี้ต้องเข้าพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น)

อาการก้าวร้าว โกรธแบบไม่มีเหตุผล มักเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงวัยเด็กอายุ 2 – 4 ปี ซึ่งลักษณะอาการลูกเจ้าอารมณ์ โกรธแบบที่น่าเป็นห่วง ชนิดที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อปรับพฤติกรรม มีลักษณะดังนี้ คือ

      • เถียงหัวชนฝา มีท่าทางชวนทะเลาะ พยายามจะเอาชนะ
      • ดื้อรั้น ท้าทาย ฝ่าฝืนคำสั่ง ต่อต้าน ไม่ทำตามกฎ กติกา
      • หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ไม่พอใจก็โวยวาย งอแง
      • เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาตพยาบาท มีท่าทางก้าวร้าวรุนแรง
      • โกรธแบบไม่มีเหตุผล แสดงอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวอยู่ตลอดเวลา
      • ชอบโกหก และโยนความผิดให้คนอื่นเสมอๆ
      • เวลาโมโห โกรธ หรือไม่พอใจ ชอบทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่น เช่น การหยิก ดึง ทึ้ง ทุบตี เป็นต้น

พัฒนาการของเด็กในช่วงวัยเริ่มต้น ตั้งแต่วัยทารกจนถึง 6 ขวบ นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงวัย 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กกำลังเรียนรู้ และจดจำสิ่งต่างๆ ในวัยนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างมาก เช่น เด็กบางคนจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เอาแต่ใจ งอแง อาระวาดแบบไม่เลือกที่ แถมบางทียังมีการขว้างปาข้าวของอีกต่างหาก ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้มิใช่สิ่งผิดปกติ หากแต่เป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเปิดเผย และตรงไปตรงมา ตามช่วงวัยของเด็ก ซึ่งล้วนมีสาเหตุ และที่มา จากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่ หรือสื่อที่มีความรุนแรง ตามยูทูป อินเตอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ โดยที่ตัวเด็กเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาได้ ก็คือความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ตั้งใจ และสงบเยือกเย็น ของคุณพ่อคุณแม่ นั่นเอง!

นอกจากนี้ บางครั้งการสร้างเงื่อนไขแบบไร้ทางเลือกของคุณพ่อคุณแม่ ก็ทำให้ลูกในวัย 3 ขวบ ที่ยังไม่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่ง เกิดอาการต่อต้าน ดื้อรั้น เอาแต่ใจ ปฏิเสธที่จะยอมรับฟัง และทำตามได้เช่นกัน ดังนั้นบางทีการที่คุณพ่อคุณแม่สร้างเงื่อนไขโดยให้ทางเลือกกับเด็กๆ บ้าง อาจช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ดีขึ้น และเลิกที่จะงอแง เอาแต่ใจ และหันมาทำตามคำสั่ง นั้นๆ ด้วยความรู้สึกที่เต็มใจยิ่งขึ้นก็เป็นได้


waayu

328,156 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save