วัยรุ่นกับปัญหารักในวัยเรียน พ่อแม่จะรับมืออย่างไร
นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างมาก ที่เด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ฮอร์โมนเพศกำลังตื่นตัวเรื่องเพศตรงข้าม ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้นที่จะมีแฟน หรือมีรักในวัยเรียน ยิ่งโดยเฉพาะถ้าในกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน มีพฤติกรรมแบบจับคู่ คือ มีแฟนเดินด้วยกันไปเป็นคู่ๆ แล้วละก็ เด็กวัยนี้ก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบกัน จนกลายเป็นว่า ถ้าใครไม่มีแฟนคนนั้นเชย หรือแปลก เป็นต้น
สาเหตุที่วัยรุ่นกับปัญหารักในวัยเรียน
ปัญหาความรักในวัยรุ่น หรือปัญหาลูกวัยรุ่นมีรักในวัยเรียน อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องปวดหัว และวิตกกังวลไปสารพัด แต่เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มตื่นตัวในเรื่องของเพศตรงข้าม จนบางครั้งเด็กในวัยนี้อาจจะคิดไปว่า “ฉันชอบคนนี้” หรือ “คนนี้แหละที่ฉันรัก”
แต่ความจริงแล้ว อารมณ์ ความรู้สึกเหล่านั้นอาจเป็นเพียงความวูบไหว ความสนใจที่น่าดึงดูด แต่มักไม่ค่อยจีรังยั่งยืน ยาวนานเหมือนความรักในวัยผู้ใหญ่ และอาจเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ซึ่งเมื่อถึงวัยหนึ่งเด็กๆ ในวัยนี้ก็จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
สาเหตุที่วัยรุ่นมักมีปัญหารักในวัยเรียนก็เนื่องมาจาก
ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กๆ จะเริ่มสนใจเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของพัฒนาการในช่วงวัย นั่นเอง
การเลียนแบบ
การเลียนแบบกันของกลุ่มเพื่อน สื่อ หรือภาพยนตร์ ทำให้รู้สึกว่า การมีแฟนเป็นเรื่องโก้ เก๋ ทันสมัย หรือเพื่อต้องการให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน เป็นต้น
ค่านิยม
สื่อ และการรับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาปฏิบัติตาม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ใครๆ เขาก็ทำกัน
วิธีรับมือลูกวัยรุ่นมีรักในวัยเรียน
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ วิธีรับมือ เมื่อลูกวัยรุ่นเริ่มมีรักในวัยเรียน คือ
ทำความเข้าใจ
พ่อแม่ควรรู้จัก และทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนวัยรุ่น และควรเปิดใจให้กว้าง ให้คำแนะนำที่ดี มีเหตุผล อธิบายถึงผลดี ผลเสีย ให้ลูกได้คิดด้วยตัวเอง แทนการห้ามปราม ว่ากล่าวอย่างรุนแรง หรือทำร้ายร่างกาย และจิตใจลูก เพราะนอกจากลูกวัยรุ่นจะไม่เข้าใจการกระทำของพ่อแม่แล้ว พวกเขายังอาจต่อต้าน หลบหนี หรือทำสิ่งต่างๆ ที่เราอาจคาดคิดไม่ถึงได้อีกด้วย
เปิดโอกาสทำความรู้จัก
ถ้าลูกวัยรุ่นมีแฟน ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พา “แฟน” มาพบพ่อแม่ เพื่อที่จะได้ทำความรู้จัก พูดคุย และศึกษาทัศนคติของอีกฝ่าย ให้ความประพฤติของพวกเขาอยู่ในสายตา ดีกว่าการที่ลูกจะปิดบัง เป็นแนวทางการป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น แทนการคิดแก้ไขในภายหลัง
เบี่ยงแบนความสนใจลูก
พยายามชักนำ หรือเบี่ยงเบนความสนใจของลูกวัยรุ่น ให้หันมาสนใจเรื่องอื่นๆ แทนการหมกมุ่นกับเรื่องเพศตรงข้าม เช่น การเรียน การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว กิจกรรมเพื่อสังคม และสาธารณะประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
เปลี่ยนให้เป็นพลังที่สร้างสรรค์
คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนพลังของความรักของวัยรุ่นที่รุ่มร้อน ให้เป็นพลังที่สร้างสรรค์ แนะนำให้ลูกๆ ชักชวนกันทำสิ่งที่ดีๆ สร้างสรรค์ อยู่ในศีลธรรมและจริยธรรมอันเหมาะสม มีคุณประโยชน์ ทั้งกับชีวิตตนเอง คนรอบข้าง และสังคม เช่น อาจจัดกิจกรรมให้ลูกและคนรักได้ทำงานอดิเรกร่วมกัน ชวนกันอ่านหนังสือ หรือช่วยกันติวข้อสอบ เป็นต้น
ให้ความรู้ในเรื่องเพศศึกษา
คุณพ่อคุณแม่ สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษาให้กับลูกๆ ไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ลูกได้ยั้งคิด และตระหนักถึงผลดีผลเสียด้วยตัวเอง รวมถึงการสอนให้ลูกรู้จักทักษะของการปฏิเสธ เมื่อไม่เต็มใจ หรือยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ขณะที่วัยรุ่นชาย ควรสอนให้รู้จักการให้เกียรติ์ผู้อื่น การไม่ละเมิดสิทธิในร่างกายและจิตใจของผู้อื่น การตระหนักในเรื่องของความเป็นสุภาพบุรุษ เป็นต้น
สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง
คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างบรรยากาศในครอบครัว ให้ลูกรู้สึกถึงความเป็นกันเอง ให้ลูกสามารถพูดคุย หรือปรึกษาได้ทุกเรื่อง และเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม คุณพ่อคุณแม่อาจสร้างกติกา หรือข้อตกลง เช่น หากลูกมีแฟนให้บอกพ่อกับแม่ ไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวด้วยกันตามลำพังโดยไม่บอกพ่อแม่ เป็นต้น
รับฟังลูกอย่างเปิดใจ
คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจรับฟังความรู้สึกของลูกในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อลูกรู้สึกเสียใจกับความรักในวัยเรียน ที่ไม่เป็นไปตามที่หวัง และพร้อมที่จะปลอบโยน ให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติม โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสอนให้ลูกรู้จักที่จะรับมือกับความผิดหวังได้ด้วยตนเอง รวมถึงการให้คำแนะนำที่ดี เพื่อให้ลูกเริ่มต้นใหม่กับการหันมาสนใจการเรียน และอนาคตทางการศึกษา ที่สำคัญ ยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยได้ดีอีกด้วย
ข้อควรรู้สำหรับวัยรุ่น ในการมีรักแบบไม่ให้เสียการเรียน
โบราณว่าไว้ว่า “ความรักเปรียบเสมือนโคถึก” อยากนักที่จะหักห้าม ยับยั้งได้ แต่ถึงกระนั้น ก่อนที่วัยรุ่นหนุ่มสาวทุกคนที่ริจะมีรัก ควรได้รู้ถึงข้อคิดที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ
ต้องสร้างสรรค์
รักได้ แต่ต้องเป็นไปในแบบที่สร้างสรรค์ ชักชวนกันทำสิ่งดีๆ มีประโยชน์แก่กันและกัน เช่น ช่วยกันติวข้อสอบ ชวนกันอ่านหนังสือ ชวนกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม และส่วนรวมอื่นๆ เป็นต้น
ไม่ควรทุ่มเท
ความรักของวัยรุ่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงง่าย ฉาบฉวย และไม่มั่นคง ซึ่งวัยรุ่นมักมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนคนรัก หรือแฟนได้ทุกเมื่อ ดังนั้น วัยรุ่นหนุ่มสาวที่ริจะมีรักในวัยเรียน จึงไม่ควรทุ่มเท ปักใจ หรือยึดติดจนทำให้เกิดผลกระทบกับชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ การเรียน การดำรงชีวิตประจำวัน ควรปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์นิสัยใจคอ และพฤติกรรมของอีกฝ่าย โดยไม่เอาตัวเองไปหมกมุ่น ถลำลึก จนถึงกับแก้ไขอะไรไม่ได้ จึงจะเป็นการดีที่สุด
รู้จักการยับยั้งชั่งใจ
ไม่ใจอ่อน ปล่อยตัวไปตามอารมณ์ จนเกิดความสัมพันธ์ทางเพศ โดยเฉพาะในวัยรุ่นหญิง ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ตนเอง จนยากเกินจะแก้ไขได้ หากมีพฤติกรรมใจเร็ว ขาดการยั้งคิด
รักนวลสงวนตัว
สำหรับวัยรุ่นหญิง การรักนวลสงวนตัวยังเป็นสิ่งสำคัญ และมีคุณประโยชน์แก่ตนเองเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้คือการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ขณะที่วัยรุ่นชาย ความเป็นสุภาพบุรุษ และการให้เกียรติ์คนรัก ถือเป็นสิ่งที่ควรยึดถือ และตระหนักไว้ในใจเสมอ เพื่อไม่ให้ตนเองเผลอกระทำสิ่งที่ไม่สมควรลงไป เพราะสุดท้ายแล้ว “ความผิดพลาด” ย่อมจะไม่ก่อให้เกิดผลดีกับใครทั้งสิ้น
ยอมรับในความผิดหวัง
หากพร้อมที่จะรัก ต้องยอมรับที่จะผิดหวัง และรับมือกับความเสียใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่หันไปพึ่งพายาเสพติด หรือสิ่งของมึนเมา เพราะจะนำพาให้ชีวิตจมลงสู่ก้นเหวได้เร็วยิ่งขึ้น เพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ที่ขาดสติและการยั้งคิด นั่นเอง
สรุป
การที่ลูกวัยรุ่นมีแฟน อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หรือน่าวิตกกังวลไปเสียทั้งหมด หาก “แฟน” ของลูกมีความประพฤติที่ดี ตั้งใจเรียน ก็อาจชักชวนกันไปในทางที่ดีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเปิดโอกาสให้ลูกพาแฟนมาพบพ่อแม่ ให้พวกเขาอยู่ในสายตา ดีกว่าปล่อยให้ห่างไกล โดยไม่รู้อะไรเลย ซึ่งบางครั้ง การแก้ไขปัญหาที่จะตามมา อาจทำได้ยากยิ่งกว่าการป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้น ก็เป็นได้