อาการโคลิค vs ร้องไห้ทั่วไป ต่างกันอย่างไร วิธีรับมือ
โดยปกติทารหกสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูด้วยวิธีการร้องไห้เป็นหลัก ไม่ว่าจะหิว เปียกชื้น รู้สึกกลัว ต้องการพักผ่อน หรือมีอาการป่วย แต่ในบางครั้งการร้องไห้ของทารกโดยที่พ่อแม่พยายามหาสาเหตุล้วไม่เจอ จุดนี้อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นกังวลได้ เพราะเมื่อพยายามตอบสนองสิ่งต่าง ๆ ให้แล้ว แต่ลูกก็ยังไม่หยุดร้องไห้ และมักจะร้องไห้เป็นเวลานานโดยเฉพาะช่วงหัวค่ำหรือตอนดึก นั่นอาจจะเป็นสัญญาณหนึ่งของอาการโคลิคก็ได้ค่ะ
โคลิค คือ อะไร?
โคลิค (Colic) คือ อาการของทารกที่ร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถกล่อมให้หยุดได้ จาก Kids Health พบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของทารกอาจมีอาการโคลิค ซึ่งโคลิคนั้นถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน แม้ทารกจะมีสุขภาพดี หรือทานนมได้ตามปกติก็ตาม แต่ไม่เป็นอันตรายและสามารถหายเองได้ค่ะ
อาการโคลิค
โดยทั่วไปอาการโคลิคจะมีลักษณะคือ
- ทารกจะร้องไห้อย่างหนัก ร้องเสียงดัง เสียงแหลม
- ร้องนานกว่าปกติ
- ร้องไห้ในช่วงเวลาเดิม ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเย็นหรือช่วงกลางดึก
- ทารกจะร้องไห้ประมาณวันละ 3 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ความถี่สัปดาห์ละ 3 วันหรือมากกว่านั้น
และจะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3–4 เดือน แต่จะไม่เกิน 5 เดือน
ลูกร้องโคลิค หรือ ร้องไห้ปกติ แยกได้อย่างไร?
อาการโคลิคเป็นรูปแบบพิเศษของการร้องไห้ค่ะ แม้ทารกคนนั้นจะมีสุขภาพแข็งแรง ทานได้ปกติ สวมใส่ผ้าอ้อมสะอาด และเติบโตได้ดี ซึ่งอาการที่กิฟท์จะกล่าวดังต่อไปนี้ คือ อาการร้องโคลิคนะคะ
- ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ เช่น ร้องไห้ในเวลาที่ไม่หิว หรือไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม
- ร้องไห้ในเวลาเดียวกันในแต่ละวัน และมักเริ่มร้องไห้หนักและรุนแรงในช่วงเย็น อย่างไรก็ตาม การร้องไห้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
- จะกำหมัด งอขา เกร็งแขน หรือแอ่นตัวเมื่อร้องไห้
- ร้องไห้แผดเสียงดัง เหมือนเจ็บปวด แต่ไม่มีสาเหตุ
- หน้าแดง หรือมีผิวซีดรอบปากเวลาร้องไห้
อาการโคลิค เกิดจากอะไร?
ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดว่าอาการโคลิคในทารกเกิดจากอะไร แต่มีนักวิจัยที่พยายามจะพิจารณาในหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอาการโคลิคได้ดังนี้ค่ะ
ระบบทางเดินอาหารของทารกไวต่อการกระตุ้น
ระหว่างร้องไห้ลูกงอขา
เวลาที่ทารกร้องไห้นั้นมักจะงอขาด้วย จึงสันนิษฐานกันว่าอาจเกิดจากสาเหตุความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เพราะเมื่อทารกกินนม หรือร้องไห้มากๆจะทำให้กลืนลมเข้าไปด้วย จึงเกิดท้องอืด รู้สึกไม่สบายตัว
อาจแพ้โปรตีนในนม
บางข้อมูลก็กล่าวว่าอาจเป็นผลมากจากการแพ้โปรตีนนม หรือแพ้อาหารที่ได้รับผ่านทางน้ำนมแม่
ลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ
เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่มากกว่าปกติของทารก ทำให้ทารกมีอาการเจ็บปวด แต่หากทารกได้รับยาลดการบีบตัวของลำไส้ก็จะมีอาการดีขึ้น
ระบบประสาทของทารกที่ยังปรับตัวกับโลกภายนอกได้ไม่ดี
ระบบต่าง ๆ ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
ระบบประสาทและพัฒนาการของทารกที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์อย่างมากต่อความกลัว ความตื่นเต้น หรือความคับข้องใจ
เป็นนิสัยของทารกเอง
ทารกที่ร้องไห้มากอาจถือเป็นเรื่องปกติสำหรับทารกกลุ่มนี้ เพราะอาจเป็นลักษณะนิสัยของทารก คือเป็นเด็กเลี้ยงยากกว่าเด็กคนอื่น ๆ
ด้านของสุขภาพจิตของแม่และความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับทารก
มาจากอารมณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์
มีแนวโน้มว่าทารกที่เกิดในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะลูกของพ่อแม่ที่มีอายุมาก มักจะมีอาการโคลิค เพราะตอนตั้งท้องคุณแม่มักจะเครียดโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากกังวลในการเลี้ยงดูลูก และสุขภาพของลูกในท้องมาก
คุณแม่อายุน้อยและเลี้ยงลูกคนเดียว
คุณแม่ที่อายุน้อยและไม่มีผู้ใหญ่ช่วยเลี้ยง อาจทำให้แม่รู้สึกเครียด เมื่อทารกร้องไห้และไม่รู้วิธีการที่ทำให้ทารกหยุดร้อง จึงยิ่งส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ของทารก
อาการโคลิค กับการตรวจรักษาทางการแพทย์
แต่หากคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลสามารถพาลูกไปพบแพทย์ได้นะคะ ซึ่งก็จะได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุของการร้องอย่างรุนแรงของทารก แต่โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือเอ็กซ์เรย์ เว้นแต่มีข้อบ่งชี้ว่ามีอาการเจ็บป่วยจากโรคอื่น หรือหากพบว่ามีแก๊สในกระเพาะมากเกินไป แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อลดอาการ เช่น ไซเมทิโคน (Simethicone) หยดลงในขวดน้ำหรือป้ายที่นมแม่ก่อนให้นม ซึ่งจะช่วยลดแก๊สหรือกรดเกินในกระเพาะอาหารของทารกได้ แต่ไม่ควรซื้อยาให้ลูกทานเองนะคะ
วิธีรับมือ เมื่อลูกมีอาการโคลิค
เพราะแพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการโคลิคได้ ดังนั้นเป้าหมายหลักของพ่อแม่ คือการปลอบประโลมลูกเมื่อมีอาการโคลิคให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยอาจจะต้องลองทดสอบหลาย ๆ วิธี แต่แนะนำว่าควรลองทีละวิธี เพื่อค้นหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับลูกของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
สร้างความผ่อนคลาย
อาจช่วยทารกให้รู้สึกผ่อนคลายด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งเด็กทารกบางคนสามารถใช้วิธีนี้ได้ หรือ ได้ผลดีในครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปก็อาจใช้ไม่ได้ผล
ลองพาลูกไปนั่งรถ
หรือเดินเล่นในรถเข็นเด็ก หรือถ้าคุณแม่อุ้มได้ อุ้มไหวจะดีมากเลยค่ะ เพราะลูกจะรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น ที่สำคัญเป็นการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูกได้ดีทีเดียว
ใช้จุกหลอก
เพราะทารกบางคนเหมือนหิวตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะการดูดทำให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย
การห่อตัวลูกด้วยผ้านุ่ม ๆ
ทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัย และผ่อนคลายเหมือนตอนอยู่ในท้องแม่
ให้ลูกอาบน้ำอุ่น
เป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อลูกได้ผ่อนคลาย ทำให้ลูกสบายตัวขึ้น
ลองนวดท้องลูกเบา ๆ
หรือวางลูกไว้บนท้องแล้วนวดหลังเบา ๆ ช่วยลดแก๊สในท้องได้อีกด้วยค่ะ
ให้ลูกฝึก Tummy time
ช่วยให้กล้ามเนื้อคอ และไหล่แข็งแรงขึ้น การเรอได้เองก็จะดีขึ้นด้วย
เปิด White Noise ให้ลูกฟัง
เช่น เสียงเต้นของหัวใจ เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงไดร์เป่าผม เป็นต้น
เปิดเพลงผ่อนคลาย หรือร้องเพลงกล่อม
อาจเพิ่มแรงดึงดูดให้ทารกสนใจฟังเสียงมากขึ้น
จัดบรรยากาศภายในห้องให้น่านอน
ปรับแสงภายในห้อง และจำกัดสิ่งที่ไปกระตุ้นสายตาของลูก
ปรับเปลี่ยนอาหาร
แพ้โปรตีนจากนม
หากลูกของคุณแม่ทานนมผงอาจเป็นไปได้ว่า เกิดการแพ้นมสูตรนั้น หรือแพ้โปรตีนนม ลองเปลี่ยนสูตรนมแล้วสังเกตอาการสัก 2 วัน ว่าอาการร้องไห้ยังรุนแรงอยู่ไหม หากไม่ดีขึ้น ก็แสดงว่าไม่เกี่ยวกับอาการแพ้นม
งดอาหารที่เสี่ยงแพ้สักระยะ
หากทารกทานนมแม่ คุณแม่อาจลองสังเกตอาหารที่ตัวเองทาน หรืออาจลองงดอาหารกลุ่มเสี่ยงสักระยะ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เบเกอรี่ เป็นต้น แล้วสังเกตดูว่าภายหลังจากงดอาหารอาการของลูกดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็แสดงว่าไม่ได้มีสาเหตุจากการแพ้ผ่านทางน้ำนม
เปลี่ยนท่าให้นม
หากสาเหตุของการร้องโคลิคมาจากอาการท้องอืด จุกเสียด ให้คุณแม่ลองปรับท่าทางการให้นมลูก โดยให้ลูกอยู่ในลักษณะท่าที่หัวอยู่สูงกว่าช่วงหน้าอกและลำตัว และพยายามจับลูกเรอทั้งระหว่างให้นม และหลังให้นม เพื่อเป็นการไล่แก๊สในกระเพราะของลูก ทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้น
อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่
บางครั้งทารกอาจสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดของผู้ดูแล ทำให้เกิดอารมณ์อึดอัดไปด้วย พ่อแม่จึงควรดูแลและจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ดี พยายามทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่ยากลำบากตรงหน้า
ผลัดกันดูแลลูก
หยุดพักบ้าง ผลัดกันระหว่างพ่อกับแม่ หรือขอให้ญาติเข้ามาช่วยดูแลชั่วคราว และให้โอกาสตัวเองได้ออกจากบ้านบ้างถ้าเป็นไปได้
ใช้เปลเป็นตัวช่วย
ให้คุณแม่ได้พักระยะสั้นสัก 10-15 นาที ตรวจสอบในเปลให้ดีว่าไม่มีอันตรายจากผ้าปิดหน้า หรือตุ๊กตา แล้ววางลูกลงบนเปล แน่นอนว่าลูกจะต้องร้องไห้ แต่คุณแม่ก็ควรไปพักดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ กินขนม ให้ใจสงบ ผ่อนคลาย
ระบายความรู้สึกบ้าง
เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่มือใหม่จะเจอสถานการณ์แบบนี้แล้วรู้สึกหมดหนทาง หดหู่ รู้สึกผิดหรือโกรธ ลองพูดคุย เล่าความรู้สึกของตัวเองให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพื่อน และแพทย์ฟังบ้าง
อย่าตัดสินตัวเอง
อย่าวัดความสำเร็จของความเป็นพ่อแม่ว่าลูกเราจะต้องไม่ร้องไห้นาน หรือลูกต้องเลี้ยงง่าย เพราะอาการโคลิคไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ดี และการร้องไห้ของลูกก็ไม่ได้หมายความว่าลูกปฏิเสธตัวคุณพ่อคุณแม่
ดูแลสุขภาพตัวเองด้วย
กินอาหารเพื่อสุขภาพ หาเวลาออกกำลังกาย เช่น เดินเร็วทุกวัน หากทำได้ ให้นอนเมื่อลูกหลับ แม้ในระหว่างวัน หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และยาอื่นๆ
จำไว้ว่ามันเป็นเรื่องชั่วคราว
อาการโคลิคมักจะดีขึ้นหลังจากอายุ 3 ถึง 4 เดือน
มีแผนสำรอง
ถ้าเป็นไปได้ให้วางแผนกับเพื่อนหรือญาติเพื่อให้เขาเหล่านั้นเข้ามาช่วยเหลือเมื่อคุณแม่รู้สึกอึดอัด หากจำเป็นให้ติดต่อแพทย์ประจำตัว หรือบริการช่วยเหลือฉุกเฉินในพื้นที่
แม่กิฟท์เข้าใจความเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีอาการโคลิคอย่างมากเลยค่ะ เพราะตัวเองก็ผ่านประสบการณ์เช่นนี้มา ลูกร้องไห้เกือบทุกคืน ตั้งแต่ 5 ทุ่ม จนถึง ตี 4 ต้องอุ้มกล่อม เข้าเต้า เปลี่ยนผ้าอ้อม วนไป พอช่วงกลางวันก็ต้องหลับเอาแรงไปพร้อมกับลูก เพื่อเตรียมพลังไว้รับมือช่วงกลางคืน กว่าจะดีขึ้นก็ตอนลูก 4 เดือนค่ะ แม่กิฟท์ จึงเห็นความสำคัญของการปรับพฤติกรรมการนอนของลูกอย่างมาก โดยฝึกให้ลูกรู้จักเวลา กลางวัน กลางคืน และฝึกให้ลูกสามารถนอนหลับได้เองเมื่อถึงเวลา เป็นการจัดจังหวะชีวิต (Rythm of Life) ของลูกเพื่อที่เขาจะได้คาดเดาสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตัวเองได้ ไม่ตื่นตกใจในแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้น และทำให้แม่ดูแลเขาได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ