อยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นไหม? ควรระวังอะไรบ้าง

การคลอดและหลังคลอด

อยู่ไฟ เป็นคำที่คนไทยได้ยินกันอย่างคุ้นหู และต่างก็รู้ว่าคุณแม่หลังคลอดทุกคนในสมัยโบราณต้องทำการอยู่ไฟ แต่ปัจจุบันน้อยคนนักที่จะเข้าใจภูมิปัญญานี้อย่างถ่องแท้ ว่าคนโบราณทำไปเพื่ออะไร ได้ผลจริงไหม แล้วปัจจุบันเรายังจำเป็นต้องใช้วิธีการนี้เพื่อฟื้นฟูร่างกายคุณแม่หลังคลอดอีกหรือไม่ วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

อยู่ไฟ คืออะไร?

การอยู่ไฟ คือ ขั้นตอนปฏิบัติสำหรับหญิงหลังคลอดที่จะช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว หรือ ที่เคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า มดลูกเข้าอู่ เพราะร่างกายของผู้หญิงหลังคลอดผ่านความเครียดจากการอุ้มท้องและการคลอดมาอย่างต่อเนื่อง การอยู่ไฟจึงเป็นการช่วยฟื้นฟูร่างกายจากความเจ็บปวด และเหนื่อยล้า ให้กลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็วด้วยความร้อน ซึ่งจะส่งผลให้เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อทั้งบริเวณแขนและขาที่ถูกกดทับในระหว่างการตั้งครรภ์ได้คลายตัว นอกจากนี้ความร้อนยังทำให้เลือดลมไหลเวียนดี มดลูกที่เคยขยายตัวให้กลับเข้าอู่ได้เร็ว และปากมดลูกปิดสนิท ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก การอยู่ไฟในปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนเวลาพักของคุณแม่ให้ทั้งร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >> มดลูกเข้าอู่กี่วัน อาการผิดปกติของมดลูกเป็นอย่างไร?

รูปแบบของการอยู่ไฟ

กว่าจะมาถึงปัจจุบัน การอยู่ไฟ ก็มีวิวัฒนาการมาแล้วหลายแบบเพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิต และสะดวกต่อการปฏิบัติสำหรับคุณแม่หลังคลอดแต่ละคน

การอยู่ไฟสมัยโบราณ

การอยู่ไฟ_การอยู่ไฟสมัยโบราณ

จะเป็นการใช้วิถีแบบชาวบ้านแท้ ๆ คือ

  • มีการสร้างเรือนไฟ แยกออกมาเป็นกระท่อมหลังคามุงจาก
  • คุณแม่ต้องนอนผิงไฟในกระท่อม 7-15 วัน โดยเอาลูกน้อยใส่กระด้ง นอนไว้ข้าง ๆ
  • แม่ต้องนอนอยู่บนไม้กระดานแผ่นเดียว หนีบขาให้แน่นเพื่อให้แผลที่ปากมดลูกสมานกันได้ไว เพราะสมัยก่อนไม่มีการเย็บแต่งแผลหลังจากการคลอดธรรมชาติด้วยหมอตำแย
  • ห้ามอาบน้ำ ดื่มน้ำเย็น ไม่กินของแสลง กินได้แค่ข้าวกับเกลือหรือข้าวกับปลาเค็ม
  • ต้องอยู่เพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย ไม่เกิดอาการหนาวสะท้านเข้ากระดูกเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง

การอยู่ไฟสมัยใหม่

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บ้านเรือนรั้วติดกันไม่มีบริเวณมากพอ คนอยู่หนาแน่นมากขึ้น บ้านปิดมิดชิด การที่จะก่อไฟบนพื้นบ้านหรือพื้นห้องนอนจึงไม่สามารถทำได้ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม จะเปลี่ยนจากการให้ความร้อนทั่วตัว มาเป็นการให้ความร้อนเฉพาะบริเวณหน้าท้องโดยไม่ต้องสุมกองไฟ ที่ใช้กันอยู่มี 2 วิธีคือ

  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อน วางบริเวณหน้าท้อง เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้บ้าง
  • ใช้ไฟชุด หรือชุดคาดไฟ เป็นชุดที่ประกอบด้วยกล่องอะลูมิเนียมสำหรับใส่เชื้อไฟ เมื่อจุดไฟแล้วก็ใส่กล่องไว้ กล่องจะร้อน มีสายคาดรอบ ๆ เอว 3-4 กล่อง

การอยู่ไฟร่วมสมัย

การแพทย์สมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ แต่ช่วงหลังได้มีการส่งเสริมให้มีการอยู่ไฟด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์กันมากขึ้น การอาบ-อบสมุนไพรจึงถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการอยู่ไฟด้วย ซึ่งหลัก ๆ จะประกอบไปด้วยการนวดประคบ การเข้ากระโจม อาบน้ำสมุนไพร และลงท้ายด้วยการนาบหม้อเกลือ หรืออาจมีบริการเสริมอื่น ๆ ด้วยแตกต่างกันไปตามการให้บริการของแต่ละที่

ประโยชน์ของการอยู่ไฟ

แม้ว่าวิธีการอยู่ไฟจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังมีความเชื่อในคุณประโยชน์ของภูมิปัญญานี้ คือ

    • ช่วยกระตุ้นร่างกายให้มีการไหลเวียนของเลือดได้ดี
    • ช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากการคลอดลูก และจากการเสียเลือดระหว่างคลอด
    • ช่วยเพิ่มความอบอุ่น เพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย เพราะส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดมักมีความรู้สึกหนาวเข้ากระดูกเวลาอากาศเย็นลง หรือฝนตก
    • ความร้อน ช่วยลดความปวดเมื่อยตามข้อต่อต่างๆ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นได้
    • อบสมุนไพรจากการอยู่ไฟ ช่วยให้ผิวพรรณดี สดใสขึ้น และสุขภาพดีขึ้น
    • การอยู่ไฟช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้เป็นปกติ เลือดลมไหลเวียนดี
    • การปรับอุณภูมิด้วยความร้อนช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น
    • ช่วยให้หน้าท้องยุบ ก้นและสะโพกลงเร็ว ลดอาการบวม และหลังบางลง
    • ช่วยลดความเจ็บปวด เมื่อมดลูกเกิดภาวะบีบรัดตัวให้เข้าสู่ภาวะปกติ หรือที่เรียกกันว่า มดลูกเข้าอู่ และช่วยขับน้ำคาวปลา ทั้งยังช่วยขับของเสียที่คั่งค้างออกจากร่างกาย
    • ช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดี มีประสิทธิภาพ เพราะบางที่มีบริการสอนนวดเต้า ทำจี๊ดระบายน้ำนม และนวดไล่ท่อน้ำนมให้คุณแม่มือใหม่ด้วย

นอกจากร่างกายจะได้พักผ่อน ผ่อนคลายแล้ว คุณแม่จะได้มีคนปรึกษา พูดคุย และคนแนะนำในการดูแลตัวเอง ดูแลลูก จึงลดความตึงเครียดได้อีกทางหนึ่ง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ >> น้ำคาวปลากี่วันหมด แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ ต้องพบแพทย์

ข้อควรปฏิบัติสำหรับคุณแม่ที่ต้องอยู่ไฟหลังคลอด

คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ

ควรจะเริ่มอยู่ไฟหลังคลอดไปแล้ว 7 วัน เพราะต้องรอให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวจากสภาวะการเสียเลือด และน้ำจากการคลอดบุตร

สำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติและทำหมันด้วย

ควรอยู่ไฟ หลังคลอดไปแล้ว 20 วัน โดยประมาณ เพื่อรอให้แผลแห้งดี

คุณแม่ที่ผ่าคลอด

ควรจะเริ่มอยู่ไฟหลังจากการผ่าคลอดไปแล้วอย่างน้อย 30-45 วัน เนื่องจากแผลผ่าตัดเป็นแผลที่มีการผ่าหลายชั้น และควรรอให้แผลแห้งสนิทก่อน

คุณแม่ทีผ่าคลอด และทำหมันด้วย

คุณแม่จะสามารถอยู่ไฟหลังคลอดไปแล้วอย่างน้อย 45 วัน โดยประมาณค่ะ
ทั้งนี้ สำหรับคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อความมั่นใจ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ

ขั้นตอนการอยู่ไฟหลังคลอด

ก่อนทำการอยู่ไฟ ผู้ให้บริการมักจะทำการเช็คประวัติ ซักถามเรื่องโรคประจำตัวขณะตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับและหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่ไม่เหมาะกับภาวะนั้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มทำตามขั้นตอนที่คุณแม่ซื้อแพคแก็จเอาไว้ โดยขั้นตอนหลักๆที่ผู้บริการจะมีในทุกคอร์ส มี 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ค่ะ

นวดประคบสมุนไพร

เป็นการใช้ลูกประคบสมุนไพร โดยนำผ้ามาห่อสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ตระไคร้ ขมิ้น ใบส้มป่อย การบูร และอื่นๆ นำมาประคบร้อน นวดคลึง กดจุดไปตามบริเวณร่างกายและคลึงเบาๆ บริเวณเต้านม เพื่อลดอาการปวดเมื่อย คลายกล้ามเนื้อ และอาการอักเสบ มีกลิ่นหอมสมุนไพรช่วยผ่อนคลาย

อาบน้ำสมุนไพร

ใช้เวลาอาบประมาณ 10 นาที โดยเอาสมุนไพรต้มผสมในน้ำอาบ อาทิ ขมิ้น ตระไคร้ ไพล ลูกมะกรูด ใบส้มป่อย ใบมะขาม  เพื่อให้สมุนไพรซึมผ่านผิวหนัง ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้ประเปร่า

นาบหม้อเกลือ

นำเอาเกลือเม็ดใหญ่ใส่ในหม้อดินเผาโบราณ ตั้งไฟจนเกลือร้อน ห่อด้วยใบพลับพลึง และห่อทับด้วยผ้าอีกชั้น จากนั้นนำมาประคบตามจุดต่างๆ ตามร่างกาย ประคบบริเวณหน้าอกเพื่อให้น้ำนมไหลเวียน ไม่คัดเต้า บริเวณหน้าท้อง ช่วยให้มดลูกรักษาตัว และประคบท่าเข้าตะเกียบ ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปวดสะบักบ่า ไหล่ ความร้อนจากหม้อเกลือ จะทำให้รูขุมขนตามผิวหนังเปิด ซึ่งสมุนไพรจะซึมผ่านผิวหนังลงไป เป็นส่วนหนึ่งของการขับของเสียอีกด้วย

การเข้ากระโจม

ใช้สมุนไพรสดต้มช่วยปรับสมดุลของเลือดลม ขับของเสียทางเหงื่อ ทำให้คุณแม่สดชื่น ผ่อนคลาย โดยสำหรับคุณแม่ที่คลอดแบบธรรมชาติ จะมีขั้นตอนการนั่งถ่าน โดยใช้สมุนไพรสูตรพิเศษประกอบด้วยหญ้ารีแพร์ ใบบากผู้บากเมีย เป็นต้น วางบนอิฐร้อนให้สมุนไพรระเหยไปกับไอร้อน ช่วยในเรื่องแผลฝีเย็บ ลดอาการตกขาว

ข้อควรระวังในการอยู่ไฟ

    • พิจารณาถึงความปลอดภัย และความชำนาญของผู้ให้บริการ เพราะมีการใช้ความร้อนในหลายขั้นตอน หากไม่ระวังหรือไม่ชำนาญมากพอ อาจเกิดการบาดเจ็บ และบาดแผลระหว่างการให้บริการได้ค่ะ
    • คุณแม่ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ ระหว่างการอยู่ไฟ ระวังอย่าให้เกิดภาวะขาดน้ำ อาจทำให้หน้ามืด หรือปริมาณน้ำนมลดได้
    • ในกลุ่มของคุณแม่ที่มีอาการครรภ์เป็นพิษ และความดันสูง ควรหลีกเลี่ยงหรือให้อยุ่ในการดูแลของหมอผู้เชี่ยวชาญ
    • เรื่องของสูติกรรมในสมัยโบราณนั้น ยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างคลอดและหลังคลอด แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปมาก จึงมีชุดข้อมูลใหม่ว่า การใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือนาบหม้อเกลือนั้นไม่ได้ช่วยให้ร่างกายดีขึ้น กลับเป็นอันตรายต่อคุณแม่อีกด้วย เพราะอาการอ่อนเพลีย ผนังหน้าท้องหย่อน มดลูกหดรัดตัวน้อยหรือเข้าอู่ช้านั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการนาบหม้อเกลือ แต่ควรทำการบริหารร่างกายหลังคลอดต่างหากที่สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของคุณแม่ให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง ถ้าคุณแม่บริหารร่างกายอย่างเต็มที่ก็จะทำให้เอวมีขนาดเล็กลงเกือบเท่าหรือเท่ากับระยะที่ยังไม่ตั้งครรภ์ น้ำคาวปลาก็หมดเร็ว แถมร่างกายก็แข็งแรงและกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น

การอยู่ไฟหลังคลอด บางครอบครัวก็ยังคงใช้อยู่ แต่ก็ยังมีวิธีการอื่นที่ช่วยให้ร่างกายคุณแม่หลังคลอดฟื้นฟูได้เช่นกัน อาทิ การกินยาช่วยให้มดลูกรัดตัว การออกกำลังกายหลังคลอด และการเลือกทานอาหารต่างๆ ก็เป็นตัวช่วย ตัวผู้เขียนเองก็เคยอยู่ไฟหลังคลอด ทำให้มีเวลาได้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจด้วยการฝากคุณพ่อมือใหม่ให้อยู่กับลูกทั้งวันบ้าง และได้ความรู้เกี่ยวกับการนวดเต้านม  การเคลียเต้านมคัด และการทำจี๊ด ถือเป็นตัวช่วยที่ดีอย่างมากเที่ได้สัมผัสประสบการณ์ตรง ไม่เหมือนการศึกษาจากยูทูบ ทำให้เส้นทางการให้นมแม่ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

อ้างอิง medthai.com, เรือนดาหลา, mali application


Mommy Gift

157,076 views

แม่น้องสปิน คุณแม่ฟูลไทม์ ที่เชื่อเรื่องการเลี้ยงลูกแบบธรรมชาติอย่างสมดุลทั้งภายใน-ภายนอก และเชื่อว่าลูกคือครู จึงทําให้สนใจความเป็นไปของผู้คน จิตวิทยาความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรม(ะ)ชาติ ชื่นชอบการทำอาหาร งาน Handmade อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ Facebook : Gift Bfive IG : spin_ramil

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save