ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ ผิดปกติหรือเปล่า

ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ ผิดปกติหรือเปล่า
การเลี้ยงลูก

Last Updated on 2021 09 09

การที่ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ ทำซ้ำ ๆ ของเด็กวัย 1 ขวบครึ่ง จนถึง 3 ขวบ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านวิตกกังวลว่า “เอ๊ะ! นี่ลูกของเราผิดปกติหรือเปล่านะ?” แต่สำหรับในทางการแพทย์แล้ว การที่เด็กวัยนี้พูดคำซ้ำๆ ทำอะไรซ้ำๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลย ตรงข้าม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากพัฒนาการตามวัยของเด็ก ซึ่งพวกเขากำลังพยายามที่จะเรียนรู้ “ภาษา” ด้วยการ “สื่อสาร” และ “ส่งสาร” ตามกลวิธีที่เด็กๆ พอจะคิดขึ้นมาได้ในช่วงเวลาขณะนั้น นั่นเอง

สาเหตุที่ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ

สาเหตุที่ลูกชอบพูดซ้ำ ๆ ทำอะไรแบบเดิมบ่อย ๆ อาจเนื่องมาจาก

ลูกกำลังเรียนรู้

รวมถึงพยายามที่จะสื่อสาร เพื่อบอกความต้องการของตนเองกับพ่อแม่ ด้วยคำเดิม ๆ ที่พวกเขาพอจะนึกออกได้ในเวลานั้น

ลูกต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

ด้วยการเรียกร้องให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจความคิด คำพูด และการกระทำของพวกเขา ดังนั้นการตอบรับ หรือพยายามที่จะตอบคำถามของเด็กๆ ด้วยความตั้งใจ จึงเป็นเครื่องหมายยืนยันได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ กำลังให้ความสนใจพวกเขาอยู่นั่นเอง

ลูกพยายามที่จะทำความรู้จักกับโลกใบใหม่

โลกที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน สิ่งต่าง ๆ รอบตัวของพวกเขาล้วนมีความแปลกประหลาด น่าสนใจ และน่าสับสนระคนกัน จนเกิดเป็นคำถามมากมายที่เด็กๆ ต้องการคำตอบ ดังนั้นเขาจะไม่หยุดถามคำถามเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา หากว่ายังไม่ได้คำอธิบายที่ชัดเจน พอที่พวกเขาจะเข้าใจได้

“สมองทำงานเร็วกว่าคำพูด”

เด็ก ๆ ก็เช่นกัน บางครั้งขณะที่เขาพยายามตั้งคำถาม และรอคอยคำตอบ สมองของพวกเขาได้คิดไปล่วงหน้าแล้วถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ตนเองต้องการจะรู้ ทว่า คำพูดของเด็กๆ ยังคงหยุดอยู่ที่เดิม เพื่อรอคอยคำตอบ เช่นนี้เป็นต้น

ประโยชน์จากการที่ลูกพูดซ้ำ ๆ

การที่เด็กวัย “เตาะแตะ” ชอบพูดซ้ำ ๆ ถามคำถามเดิม ๆ บ่อย ๆ ไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป หรือพยายามทำตัวน่าหงุดหงิด กวนโมโหพ่อแม่ ผู้ปกครองแต่อย่างใด เพราะความจริงแล้ว การที่เด็กวัยนี้ถามคำถามเดิมซ้ำๆ หรือพูดคำซ้ำๆ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการพูดซ้ำ ๆ มีประโยชน์ดังนี้

เด็ก ๆ จะมีทักษะทางด้านภาษาเพิ่มเติม

ในวัย 15 – 18 เดือน ซึ่งพวกเขาพยายามที่จะพูด ฟัง เรียนรู้ จดจำคำศัพท์ และความหมายของคำแต่ละคำที่พูดออกมา  ไม่ว่าจะเป็นคำถามของพวกเขา หรือคำตอบของผู้ใหญ่ก็ตามที ซึ่งข้อดีของการทำเช่นนี้ก็คือ เด็ก ๆ จะมีการพัฒนาทางด้านทักษะ การใช้ภาษา การจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และเข้าใจความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูให้ความร่วมมือกับพวกเขาด้วยดี

โลกในมุมมองของเด็ก ทุกอย่างล้วนน่ากลัว

“ความกลัว เกิดจากความไม่รู้” เรื่องนี้ผู้ใหญ่ก็เป็นค่ะ การเรียนรู้และทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่ช่วยย้ำความมั่นใจให้กับพวกเขาว่า “ฉันรู้ ฉันเข้าใจ ไม่มีอะไรที่ฉันต้องกลัว เพราะฉันทำได้” สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือความพยายาม ที่พวกเขาต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งในโลกที่แตกต่าง และแปลกใหม่ คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะพาเขาผ่านเส้นกั้นของความน่ากลัวนี้ไปให้จงได้…

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ชอบพูดซ้ำ ๆ ถามคำถามเดิมบ่อย ๆ ของเด็กจะไม่หายไปง่ายๆ พวกเขาจะยังคงทำเช่นนี้ไปจนถึงวัย 2 – 3 ขวบ และจะสนุกสนานเพลิดเพลินยิ่งขึ้น เมื่อได้ฟังเพลงเด็ก ที่มีเนื้อร้องซ้ำไปซ้ำมาด้วยคำเดิมๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขาจดจำถ้อยคำ ความหมาย และสามารถนำมาร้องตามได้อย่างสนุกสนาน และจะพัฒนาต่อยอดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเขาได้ยิน ได้ฟังคำที่คุ้นเคย ในรูปแบบประโยคใหม่ๆ หรือถ้อยคำใหม่ๆ จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งเด็กๆ ได้ยินได้ฟังถ้อยคำใหม่ๆ มากขึ้นเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีพัฒนาการทางด้านภาษา และสามารถเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ ยิ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูพูดคุยกับเด็กๆ หรือพยายามที่จะตอบคำถามของพวกเขาด้วยความใจเย็นมากเท่าไร ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการเรียนรู้คำศัพท์ และภาษา ก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อไหร่ที่ควรกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการพูดของลูก

“เมื่อไหร่ที่ควรกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการพูด และการสื่อสารของลูก?”

เป็นคำถามที่ชวนให้นำมาขบคิดไม่น้อยทีเดียว เพราะถึงแม้ว่าการใช้คำพูดซ้ำๆ หรือคำวลีเดิมๆ รวมถึงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ กัน จะเป็นเรื่องปกติสำหรับพัฒนาการขั้นพื้นฐาน สำหรับเด็กวัย 1 – 3 ขวบก็จริงอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเด็กอาจมีปัญหาในเรื่องทักษะการใช้ภาษาได้ เช่น

  • ลูก 2 ขวบแล้ว แต่ยังพูดได้ไม่เป็นคำ

เมื่อเด็กอายุได้ 2 ขวบแล้ว แต่ยังใช้คำศัพท์ หรือภาษาพูดได้ไม่ถึง 8 – 10 คำ ซึ่งตามปกติแล้วเด็กทั่วไปจะสามารถใช้คำศัพท์ต่างๆ ในภาษาพูดได้ก่อนอายุ 2 ขวบด้วยซ้ำ

  • เด็กไม่สามารถปฏิบัติตัวตามคำสั่งง่าย ๆ ได้

เช่น คำสั่งห้าม หยุด ยกมือ กินข้าว มานี่ ไปนั่น ยืน นอน กินนม แบมือ กำมือ จับหู แตะจมูก ฯลฯ เป็นต้น

  • ไม่สบตากับผู้ที่มาคุยด้วย

ให้คุณแม่ลองสังเกตดูว่าขณะพูดลูกไม่ยอมสบตากับคนที่พูดด้วยอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ แนะนำปรึกษาแพทย์ค่ะ

  • สื่อสารด้วยเสียงหรือถ้อยคำแปลก ๆ

มีเสียงพูดออกมา แต่ไร้ความหมาย ฟังแล้วไม่เข้าใจ

  • มักใช้ภาษากายในการสื่อสาร

เปลี่ยนจากการใช้คำพูดในการสื่อสาร มาใช้ภาษากายในการสื่อสารแทน

 

อย่างไรก็ตาม วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดได้ดีที่สุดก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่พยายามที่จะพูดคุยกับพวกเขา ด้วยถ้อยคำเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ จดจำ ทักษะทางด้านภาษาของเด็ก ๆ ก็จะค่อย ๆ พัฒนาดีขึ้นตามลำดับ นั่นเอง

 

เมื่อไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีคำถามซ้ำๆ คำพูดซ้ำๆ หรือทำบางสิ่งซ้ำๆ อยู่ละก็ ลองตั้งสติ ใจเย็น และให้ความสนใจกับคำพูดและการกระทำของพวกเขาอย่างจริงจังและตั้งใจ เตรียมพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในความคิดของพวกเขา ด้วยการตอบคำถามเหล่านั้นอย่างใจเย็น และมีเหตุผล ดูสิคะ บางที…เราอาจพบว่ามีสิ่งแปลกใหม่ ที่น่ามหัศจรรย์เกิดขึ้นในความคิดของเด็กๆ ก็เป็นได้!


waayu

330,881 views

(นามปากกา : วายุ, วิสัชนา, อารีรัตน์) ชอบปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และวาดรูป เคยเป็นครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยมต้น ครูสอนจินตคณิต(สมาร์ทเบรน) มีงานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ค และ E-book ที่ mebmarket.com Facebook

Profile

Pickup posts

Related posts

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

Save