อาการคนท้อง 8 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแม่ตั้งครรภ์
อีกนิดเดียวคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้เจอหน้าเจ้าตัวน้อยแล้วนะคะ ว่าแต่การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8 นี้หรือประมาณ 32 สัปดาห์นี้คุณแม่ต้องเจออะไรบ้างอาการคนท้อง 8 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไปดูกันค่ะ
อาการคนท้อง 8 เดือน และและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแม่ตั้งครรภ์
ในช่วงนี้สูตินรีแพทย์จะนักคุณแม่ทุกสัปดาห์ รวมถึงจะมีการตรวจร่างกายเหมือนตอนที่คุณแม่ท้องเดือนที่ 5 แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ใกล้คลอดแล้ว มดลูกของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่อาจทำให้มีอาการดังนี้
หายใจตื้น เหมือนหายใจไม่อิ่ม
เนื่องมาจากมดลูกที่มีขนาดใหญ่ และมีการบีบตัวของมดลูกมากขึ้น รวมถึงยอดมดลูกที่สูงขึ้นจนไปเบียดกระบังลม จึงทำให้คุณแม่รู้สึกหายใจไม่อิ่ม แนะนำให้คุณแม่นั่งตัวตรง แล้วใช้หมอนหนุนหลัง ค่อย ๆ สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ส่วนมื้ออาหารคุณแม่ยังต้องคงแบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อ ประมาณ 5 – 6 มื้อ โดยในแต่ละมื้อควรกินแต่น้อย เพื่อช่วยให้ระบบการย่อยอาหารไม่ทำงานหนักจนเกินไป คุณแม่ก็จะได้ไม่อึดอัดมาก
รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศและหัวหน่าว
เนื่องจากเชิงกรานมีการขยาย ทารกก็เริ่มกลับศีรษะลงแล้ว จึงทำให้ศีรษะของลูกไปกดทับเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้คุณแม่มีอาการปวดนั่นเอง และอาจมีอาการปวดมากขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรลดการเดิน หรือลดการเคลื่อนไหวให้น้อยลง นอนพักผ่อนมาก ๆ หากนอนพักแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
ท้องแข็งเป็นลูกบ่อยขึ้น
ข้อนี้เกิดจากการบีบตัวของมดลูกและเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกได้น้อยลงทำให้มดลูกขาดเลือด ส่งผลให้คุณแม่มีอาการปวดท้องหรือมีอาการท้องแข็ง เจ็บตึง ๆ ที่ท้อง โดยธรรมชาติแล้ว อาการบีบตัวของมดลูกที่เกิดขึ้นจะเจ็บมากที่สุดตอนจะใกล้คลอด แต่ถ้าคุณแม่มีอาการท้องแข็งในช่วงที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด อาจเป็นการเจ็บเตือนหรือเป็นไปได้ว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนดได้
มือ เท้า และข้อเท้าบวม
ปกติแล้วอาการบวมจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ของไตรมาสที่ 2 และยาวมาจนไตรมาสที่ 3 ซึ่งอาการบวมอาจมีบมมากขึ้นที่นิ้วมือ เนื่องจากมดลูกขยายตัวมากขึ้น จึงไปกดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดคั่งอยู่ในบริเวณขาที่มากกว่าปกติ อาการนี้จะเป็นมากในช่วงเย็นของทุกวัน อาการบวมโดยทั่วไปไม่มีอันตรายใด ๆ สำหรับคุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรง ยกเว้นว่าจะมีอาการดังต่อไปนี้
-
- มีอาการบวมที่ใบหน้า รอบดวงตา เหมือนคนเพิ่งตื่นนอน (มีอาการนี้ตลอดเวลา)
- มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ มากกว่า 8 กิโลกรัมในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์
- มีอาการปวดศีรษะตลอดเวลา บางรายก็รุนแรง กินยาก็ไม่ดีขึ้น
- สายตาผิดปกติมองเห็นแสงเป็นแฉกเหมือนดาว ตาพร่ามัว เบลอ
- มีอาการจุกที่ลิ้นปี่ บางรายอาจมีอาการปวด
- คลื่นไส้ อาเจียน
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษค่ะ แม่โน้ตก็มีอาการเหล่านี้มาค่ะ และเมื่อแพทย์ตรวจปัสสาวะพบว่ามีโปรตีนปนอยู่ด้วย จึงทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด
คัดหน้าอก
คุณแม่จะรู้สึกคัดตึงหน้าอกมากขึ้น เพราะหน้าอกมีการขยายใหญ่ขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าต่อมน้ำนมเริ่มขยายออก เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูกหลังคลอดค่ะ
ท้องผูก
อาการนี้เป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ แต่คุณแม่สามารถรับมือได้โดยดื่มน้ำเปล่าสะอาด ๆในปริมาณมาก ๆ กินผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขนะคะ
อาหารบำรุงครรภ์ 8 เดือน
วิตามินซี
วิตามินซีมีส่วนช่วยให้ร่างกายได้ดูดซึมเอาธาตุเหล็กมาใช้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ ผลไม้ที่อุดมไปด้วยมีวิตามินซี ได้แก่ ฝรั่ง และส้ม เป็นต้น
วิตามินดี
พบมากในน้ำมันตับปลา นม เนย ไขมัน ปลาทู ไข่แดง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาไหล ปลาแมคคาเรล มาการีน ผักสีเขียวเหลือง แครอท และฟักทอง วิตามินดีนี้มีส่วนกระตุ้นการผลิตน้ำนม เพื่อเตรียมให้ลูกน้อยหลังคลอด
โปรตีน
ถั่ว เต้าหู้ อกไก่ ปลา ไข่ขาว โยเกิร์ต นม และถั่วเหลือง เป็นกลุ่มอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เพราะจะเป็นการช่วยกระตุ้นในการสร้างกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี
แคลเซียม
พบมากในนม ปลาตัวเล็ก ข้าวกล้อง คิวนัว และอะโวคาโด เพราะขณะตั้งครรภ์ทารกในครรภ์ต้องการแคลเซียมเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าทันที่ฝากครรภ์ แพทย์จะให้แคลเซียมเสริมมาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้กินตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์นะคะ ดังนั้น คุณแม่ต้องทานอาหารกลุ่มนี้เข้าไปเสริมค่ะ
ธาตุเหล็ก
อาหารจำพวกธาตุเหล็กจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี พบมากในตับ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 เดือน
Credit: emmasdiary.co.uk
- ทารกในครรภ์จะมีความยาวตั้งแต่หัวจรดเท้าประมาณ 40 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 1,600 กรัม
- ผิวหนังเหี่ยวย่น เนื่องจากยังมีชั้นไขมันที่น้อย
- ทารกในครรภ์จะปัสสาวะออกมามาก ดังนั้นในถุงน้ำคร่ำจึงมีปัสสาวะของลูกปะปนด้วยค่อนข้างมาก
- ทารกตัวใหญ่ขึ้น ดังนั้น การดิ้นของทารกจึงทำให้คุณแม่เจ็บจนบางครั้งนอนไม่หลับ คุณแม่สามารถลูบท้องและพูดคุยกับลูกได้นะคะ
- บางครั้งคุณแม่อาจมีอาการปวดที่หัวหน่าวเป็นระยะ เนื่องจากทารกกลับศีรษะลงที่เชิงกรานจึงทำให้มดลูกไปกดทับที่เส้นประสารทอุ้งเชิงกราน
- ผมของทารกเริ่มเยอะมากขึ้น ผิวหนังเริ่มเป็นสีชมพู เนื่องจากมีไขมันสีขาวสะสมใต้ผิวหนัง เล็บมือ เล็บเท้างอกยาวแล้วค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- อาการคนท้อง 1 เดือน พร้อมวิธีแก้อาการแพ้ท้อง
- อาการคนท้อง 2 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 3 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 4 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 5 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 6 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 7 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์
- อาการคนท้อง 9 เดือน อาหารบำรุงครรภ์ และพัฒนาการทารกในครรภ์