ไฮเปอร์กับสมาธิสั้นแยกได้อย่างไร
โบราณว่า “เด็กซนคือ เด็กฉลาด” แต่ถ้าเด็กซนเกินไป จนอยู่ไม่นิ่ง แล้วที่ลูกอยู่ไม่นิ่งนี้มันคือ สมาธิสั้น ไฮเปอร์ หรือแค่ลูกซนปกติทั่วไป วันนี้ไปดูกันค่ะว่ามีความต่างกันอย่างไร แยกได้จากอะไรบ้าง
รู้จักกับโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือ ภาวะที่ผิดปกติทางจิตเวชทำให้ลูกมีสมาธิสั้นกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองได้ จึงแสดงออกในทางซุกซน วอกแวกง่าย ไม่ค่อยอยู่นิ่ง เก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ มักจะพบมากในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3-7 ปี แต่บางรายหากเป็นไม่มากก็จะมักจะแสดงอาการออกมาเมื่ออายุขึ้น 7 ปีไปแล้ว
อาการของโรคสมาธิสั้น
อาจเป็น A หรือ B
อาการขาดสมาธิ
คือ เด็กต้องมีอย่างน้อย 6 ข้อหรือมากกว่าจากด้านล่างนี้นะคะ และเป็นระยะเวลาต่อเนื่องติดต่อกันนาน 6 เดือน โดยที่ระดับของพัฒนาการก็ไม่ได้เติบโตไปตามวัย
- ไม่รอบคอบเวลาทำงานหรือทำการบ้าน
- ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมหรือเล่น
- ดูเหมือนไม่ได้ฟังสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดกับตน
- มักทำไม่ครบตามคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน งานหรือกิจกรรมที่โรงเรียน (แต่ไม่ใช่เพราะต่อต้าน หรือไม่เข้าใจนะคะ)
- มีปัญหากับการจัดระบบงาน ทำงานไม่เป็นระเบียบ
- มักเลี่ยงหรือไม่เต็มใจในงานที่ต้องในความคิด
- มักทำของหายอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะที่โรงเรียน
- วอกแวกมองสิ่งเร้านอกห้องได้ง่าย
- หลงลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำบ่อยครั้ง
อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
คือ อาการของเด็กที่หุนหันพลันแล่น และเป็นอย่างนี้ติดต่อกันนาน 6 เดือน โดยที่ระดับของพัฒนาการไม่ได้เป็นไปตามวัย
- อยู่ไม่สุข มักขยับตัว ขยับเท้าไปมา
- มักลุกออกจากที่นั่งในขณะที่ควรนั่งอยู่กับที่
- วิ่งไป วิ่งมา ปีนป่ายกับสิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมที่เงียบ ๆ ได้
- พร้อมที่จะ “วิ่ง” ไปอยู่ตลอดเวลา
- ชอบพูด พูดไม่หยุด
- มีอาการหันพลันแล่น (Impulsivity)
- มักโพล่งคำตอบออกมาก่อน โดยที่ฟังคำถามยังไม่จบ
- ไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย
- มักพูดแทรกคนอื่นอยู่เสมอ
อาการเหล่านี้พบได้ก่อนอายุ 7 ขวบ
พบความบกพร่องเหล่านี้ได้ในสถานที่ต่าง ๆ อย่างน้อย 2 แห่ง คือ บ้านและโรงเรียน อาจต้องมีความรุนแรงของอาการจนกระทั่งเป็นอุปสรรคส่งผลต่อการเรียน การเข้าสังคม และการทำงานอย่างเห็นได้ชัด
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่
- ผลการเรียนต่ำลงอย่างมีนัย โดยพบมากตั้งแต่ช่วง ป.1-ป. 2 และผลการเรียนลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเข้า ป. 4
- คุณครูมีรายงานพฤติกรรมความผิดปกติของเด็กให้คุณพ่อคุณแม่ฟังบ่อย ๆ
- เริ่มเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น
- เริ่มเล่นรุนแรงกับเพื่อนจนเพื่อนได้รับบาดเจ็บ
- ลูกเริ่มแยกตัวอยากอยู่คนเดียว ไม่ชอบการสื่อสาร และไม่ชอบการเข้าสังคม (จากการที่ถูกเพื่อนปฏิเสธหรือรังแก)
โรคไฮเปอร์ต่างกับโรคสมาธิสั้นอย่างไร
เด็กที่เป็นไฮเปอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป เนื่องจากไฮเปอร์คือ อาการที่อยู่ไม่นิ่ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเด็กที่มีไอคิวสูง เด็กที่มักมีความวิตกกังวล เด็กที่มีพัฒนาการทางประสาทล่าช้า ฯลฯ เพราะเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็น ลูกมีโอกาสเป็นได้ถึง 50%
การป้องกันลูกไม่ให้เป็นโรคสมาธิสั้น
- หลีกเลี่ยงให้ลูกสัมผัสหน้าจอหากลูกยังอายุไม่ถึงเกณฑ์
- ถ้าจะให้ลูกสัมผัสหน้าจอ ลูกควรมีอายุมากกว่า 2 ขวบครึ่ง และไม่ควรปล่อยให้ลูกดูตามลำพัง
- จำกัดการดูวันละ 1 ชั่วโมง
- หากิจกรรมอื่น ๆ ทำร่วมกันในครอบครัว อาทิ การเล่นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน หรืออาจเป็นการเล่นดนตรี เช่น เปียโน หรือแม้แต่การร้องเพลงเล่นกันก็ได้
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อที่น่ารังเกียจ แต่หากลูกเป็นโรคนี้แล้ว การที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็สามารถหายได้ค่ะ เพื่อให้ลูกได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบที่เขาไม่เคยเป็นมาก่อน
อ้างอิง โรงพยาบาลกรุงเทพ