อาหารแม่หลังคลอดควรกินอะไร? อะไรที่ควรเลี่ยง?
คุณแม่หลังคลอด สิ่งที่ต้องทำคือ การดูแลตัวเอง ฟื้นฟูร่างกาย และการเพิ่มปริมาณน้ำนมเพื่อที่จะได้มีพละกำลังดูแลลูกน้อยต่อไป เพราะฉะนั้น เรื่องของอาหารโภชนาการต่างๆ จึงสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง
เมื่อพูดถึงเรื่องโภชนาการ แม่บางท่านอาจไม่แน่ใจว่าอะไรบ้างที่แม่ในระยะให้นมควรกินหรือไม่ควรกิน ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ วันนี้โน้ตมีข้อมูลที่แม่ๆ อยากรู้มาฝากค่ะ
อาหารแม่หลังคลอด
ด้วยความที่เป็นคุณแม่ลูกอ่อน จึงมีเรื่องต้องดูแลหลายเรื่อง ไหนจะเรื่องร่างกายของตัวเอง ไหนจะแผลผ่าคลอด ไหนจะเรื่องน้ำนม คิดๆๆ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีน้ำนมให้ลูกได้กินกันยาว ๆ คิดไปคิดมากลายเป็นคิดมาก กังวล เลยค่ะคราวนี้ แต่วันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลแล้วนะคะ เพราะเรามีอาหารคุณแม่หลังคลอดมาแนะนำค่ะ ไปติดตามกันเลย
อาหารกลุ่มธัญพืช
อาหารในกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำนมได้ดี อาหารกลุ่มธัญพืช ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ คุณแม่ควรกินให้ได้ 40% โดยประมาณ เมื่อเทียบกับปริมาณอาหารที่ได้รับต่อวัน
อาหารช่วยกระตุ้นน้ำนม
อาหารที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมมีอาหารหลายประเภท หลายอย่างค่ะ ได้แก่ หัวปลี ขิง ตำลึง กุยช่าย เม็ดขนุนต้มสุก ฟักทอง อินผลัม ผักโขม คะน้า แครอท ใบกะเพรา กระเทียม โน้ตกินมาหมดแล้วค่ะ การันตีได้เลย มาเป็นลิตร^^
อาหารสร้างสมดุลความร้อน-เย็นของร่างกาย
เนื่องจากในขณะคลอด คุณแม่ต้องเสียเหงื่อ เสียเลือดเยอะ และมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ) จึงส่งผลให้คุณแม่อาจจะกลายเป็นคนขี้หนาวเมื่อหลังคลอด อาหารที่สามารถช่วยสร้างสมดุลในร่างกายได้แก่ ขิง เพราะมีฤทธิ์ร้อน หรือตับ เพราะจะช่วยในเรื่องของการบำรุงเลือด สร้างเม็ดเลือดได้ดีค่ะ
อาหารที่มีไขมันจำเป็น
เมื่อพูดถึงคำว่า “ไขมัน” หลายท่านจะคิดว่ามันคือ “ความอ้วน” แต่แท้จริงแล้ว ไขมันก็ยังคงเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการอยู่นะคะ โดยเฉพาะไขมันดี เพราะวิตามินบางชนิดยังต้องการไขมันเพื่อการละลายที่ดี แต่ไขมันในที่นี้ที่ร่างกายต้องการเราจะเรียกมันว่า “ไขมันจำเป็น” ซึ่งไขมันจำเป็น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
โอเมก้า 6
อาหารที่มีโอเมก้า 6 ในปริมาณมากได้แก่ นมสดชนิดไม่พร่องมันเนย เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน ธัญพืช และถั่ว
โอเมก้า 3
อีกส่วนคืออาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก ผักใบเขียว ไข่ น้ำมันตับปลา และปลา เป็นต้น
ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
“น้ำ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่น้ำเปล่าที่สะอาดเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง น้ำซุป น้ำผลไม้ และนมด้วยค่ะ เพราะช่วงนี้คุณแม่ต้องให้นมลูกและอาจมีความเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก จะส่งผลให้คุณแม่อ่อนเพลียและกระหายน้ำได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังการให้นมกับลูกเสร็จใหม่ ๆ คุณแม่จะหิวมาก ควรมีนมอยู่ใกล้มือ เพื่อสะดวกในการหยิบดื่ม
เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ คุณแม่ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 3.8 ลิตร หรือ 1 แกลลอน ต่อวัน
กินอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
การกินอาหารให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการนั้น ไม่เพียงแค่ลดความหิวนะคะ แต่…เมื่อร่างกายเราอิ่มแล้ว ความรู้สึกอิ่มนี้จะมีผลไปเพิ่มในการหลั่งฮอร์โมนออกซีโทซิน ส่งผลให้มีการหลั่งปริมาณของน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
อาหารแม่ให้นมควรงด
อาหารรสจัด
เพราะอาหารรสจัด จะส่งผลให้เกิดกรดหรือแก๊สในกระเพาะเยอะ จนทำให้คุณแม่ไม่สบายตัว และอึดอัด ถ้าลูกน้อยกินนมแม่เข้าไปก็จะมีผลเช่นเดียวกัน ลูกน้อยจะเกิดความอึดอัดท้อง ร้องไห้ งอแงได้
อาหารและเคร่ื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ได้แก่ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และน้ำอัดลม เข้าใจค่ะว่าอาหารในกลุ่มนี้ บางชนิดก็เป็นของโปรดของคุณแม่ แต่…ถ้ากินเข้าไปคุณแม่อาจนอนไม่หลับ ลูกน้อยก็ไม่หลับด้วยน้า เพราะสารคาเฟอีนส่งผ่านไปทางน้ำนมสู่ลูกน้อยได้
ของหมักดอง
เพราะของหมักดองที่ว่าอร่อย ๆ นี้ มีโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่สูงมาก ส่งผลเสียต่อลูกน้อยทำให้อวัยวะภายในที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ต้องทำงานหนักเกินไป
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ไม่ว่าจะเป็นเหล้า ไวน์ หรือเบียร์ สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมลูก แอลกอฮอล์จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของลูกได้โดยตรง
อาหารดิบ
ได้แก่ ปลาดิบ ปลาแซลมอนดิบ ลาบก้อย ซกเล็ก และซาชิมิ เป็นต้น เพราะอาหารกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงต่อลูกน้อยอันเกิดจากการปนเปื้อนของพยาธิ และแบคทีเรียได้
ไอนู่นก็ห้าม ไอนี่ก็ห้าม สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะรู้สึกขัดใจเล็กน้อย แต่โน้ตเชื่อค่ะว่าคุณแม่ต้องทำได้แน่ ๆ เพื่อลูกน้อย เชื่อเถอะค่ะ ว่าพักเดียวลูกก็โตแล้ว เมื่อเขาโตแล้วเราจะกินอะไรก็ได้ตามใจ อดทนรออีกนิดนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- 8 อาหารแม่ให้นมลูก ควรเลี่ยง!